ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ประชุมติดตามและประเมินโครงการสร้างนักพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี (วช.จ้างงานระยะสั้น 4 เดือน) “พัฒนาทักษะผู้ถูกจ้างงาน พร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน”
          วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 เวลา 09.30 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย นายประพันธ์ พัฒน์ทอง หัวหน้าฝ่ายประชาสังคมและชุมชน ศูนย์บริการวิชาการ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมด้วย คณะทำงานอำนวยการศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พร้อมด้วยคณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ นำโดย ท่านสุกัญญา ธีระกูรณ์เลิศ ดร.มารยาท สมุทรสาคร ผู้ทรงคุณวุฒิสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ นายธวัช หมัดเต๊ะ สำนักกิจกรรมเพื่อสังคม ร่วมประชุมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานโครงการสร้างนักพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี ณ ห้องประชุมศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้วิสาหกิจกลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์จากและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศครบวงจร ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช
          โครงการสร้างนักพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม เพื่อการพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้และเทคโนโลยี เป็นโครงการที่ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ และบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ได้รับอนุมัติงบประมาณการจ้างงาน จำนวน 30 คน และกิจกรรมยกระดับพัฒนาวิสาหกิจชุมชน จำนวน 3 พื้นที่ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงหมูครบวงจร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์ (ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา) กลุ่มวิสาหกิจแปรรูปผลิตภัณฑ์ “จาก” และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศครบวงจร (ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง) กลุ่มวิสาหกิจกลุ่มปลูกผักปากพนังปลอดภัย (ต.ป่าระกำ อ.ปากพนัง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนการจ้างงานและพัฒนาทักษะนักศึกษา บัณฑิตที่จบใหม่ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤต พร้อมยกระดับเศรษฐกิจฐานราก วิสาหกิจชุมชน พร้อมทั้งมุ่งเน้นเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและสร้างอาชีพจากพลังความคิดของเยาวชนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ตลอดจนหาโอกาสทางธุรกิจให้กับเศรษฐกิจฐานรากชุมชน
          ในการนี้ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการ ให้การต้อนรับคณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ ฯ และชี้แจงแนวทางการบริหารจัดการโครงการ โดยผู้จ้างงานได้นำเสนอผลการดำเนินงานโครงการ ทั้งนี้ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการฯ หน่วยงานภาคีพัฒนา ผู้แทนกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และผู้จ้างงาน ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสนอแนะเพื่อพัฒนาโครงการ โดยที่ประชุมได้ให้ความเห็นว่า ผู้ถูกจ้างงานมีศักยภาพและสมรรถนะเพิ่มขึ้น ทั้งด้านทัศนคติ ทักษะ เครื่องมือ และองค์ความรู้ในด้านต่าง ๆ อาทิ การวิเคราะห์และแก้ปัญหาชุมชน การพัฒนานวัตกรรมทางสังคม เทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหารแปรรูป เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ปฏิบัติงาน ยังสามารถนำองค์ความรู้ไปต่อยอดโครงการ Start up ของตนเอง เป็นผู้ประกอบทางสังคม รวมทั้งมีส่วนสำคัญช่วยพัฒนากลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จ้างงาน มีการเพิ่มรายได้ ลดต้นทุนการผลิต พร้อมทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะการเพิ่มทักษะการเป็นผู้ประกอบการแก่ผู้จ้างงานและแนวทางการพัฒนากลุ่มวิสาหกิจตลอดห่วงโซ่อุปทานให้เกิดความยั่งยืน พึ่งตนเองให้ได้ ดังนั้น ภาพรวมแล้วโครงการดังกล่าวมีการดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และแผนการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ คณะทำงานโครงการฯ จะนำข้อเสนอแนะดังกล่าวไปพัฒนาต่อยอดในการดำเนินงานในลำดับต่อไป
จำนวนคนดู: 35