ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำทีมเข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรม Train of Trainer สร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการเเปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน

            เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2566 เวลา 08.45-11.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลธนาคารปูม้า และ นายเจริญ โต๊ะอิแต ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าและประมงชายฝั่งบ้านในถุ้ง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าร่วมกิจกรรมฝึกอบรม Train of Trainer สร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการเเปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน ผ่านระบบออนไลน์ Zoom Cloud Meeting จัดโดย กองพัฒนาระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าประมงและหลักฐานเพื่อการสืบค้น กรมประมง ร่วมกับสำนักงานการวิจัยเเห่งชาติ (วช.)

           ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของชาวประมงพื้นบ้านที่ได้ดำเนินกิจกรรม “ธนาคารปูม้า” ซึ่งเป็นการอนุรักษ์และเพิ่มจำนวนปูม้าในธรรมชาติ โดยธนาคารปูม้าของชาวประมงพื้นบ้านได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจากโครงการ “คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” ซึ่งเป็นเป็นโครงการที่ขับเคลื่อน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ส่งผลให้ทรัพยากรปูม้าเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามชาวประมงพื้นบ้านที่ทำประมงปูม้ายังคงประสบปัญหาด้านความมั่นคงของรายได้และความมั่นคงในอาชีพแม้ว่าจำนวนปูม้าที่จับได้ในแต่ละครั้งจะเพิ่มขึ้น

          ดังนั้น หากสามารถยกระดับคุณภาพสินค้าด้วยมาตรฐาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และสร้างความสามารถในการแข่งขัน จะเป็นการช่วยเหลือที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวประมงพื้นบ้านที่ดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้าส่งผลให้การดำเนินกิจการธนาคารปูม้ายั่งยืนมากขึ้น ซึ่งมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน กำหนดขึ้นโดยกรมประมงเพื่อส่งเสริมการทำประมงที่ถูกกฎหมาย ใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างมีคุณค่า สามารถดูแลสัตว์น้ำหลังการจับได้อย่างถูกสุขลักษณะ การจ้างงานที่ถูกกฎหมายและเป็นธรรม สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ และมาตรฐานนี้ครอบคลุมถึงการแปรรูปสินค้าสัตว์น้ำจากการทำประมงยั่งยืน เพื่อรับประกันว่าสินค้าสัตว์น้ำที่ได้รับรองมีคุณภาพ ผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ตลอดสายการผลิต การสร้างความรู้และความเข้าใจในมาตรฐานเป็นสิ่งจำเป็น คณะผู้วิจัยเล็งเห็นว่าหากมีการถ่ายทอดความรู้ให้กับนักวิจัยที่ดูแลธนาคารปูม้า บุคคลากรทางการศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้องการอนุรักษ์ปูม้าซึ่งมีความใกล้ชิดกับชาวประมงและผู้ประกอบการในพื้นที่ จะสามารถช่วยถ่ายทอดความรู้ และช่วยส่งเสริมให้ชาวประมงและผู้แปรรูปสามารถปฏิบัติตามมาตรฐานฯ จนได้รับการรับรองมาตรฐานในอนาคตได้

          การจัดกิจกรรม Train the Trainer มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมซึ่งเป็นบุคคลากรทางการศึกษา นักวิจัยที่ดูแลธนาคารปูม้า และผู้ที่เกี่ยวข้องการอนุรักษ์ปูม้า มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมมาตรฐานฯแก่ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการแปรรูปได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ และเป็นไปอย่างทั่วถึง เพื่อนำไปสู่การทำประมงพื้นบ้าน

โดยมีหัวข้อการอบรม ดังนี้

  1. 1. ข้อกำหนดมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืน
  2. 2. เครื่องมือประมงพื้นบ้านเเละกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
  3. 3. ข้อกำหนดมาตรฐานการเเปรรูปสินค้าประมงพื้นบ้าน
  4. 4. ระเบียบกรมประมงว่าด้วยการขอเเละออกใบรับรองมาตรฐานการทำการประมงพื้นบ้านยั่งยืนและการแปรรูปสินค้าพื้นบ้าน พ.ศ. 2563

          ทางผู้จัดกิจกรรมฯ ดังกล่าว คาดว่าประโยชน์ที่ผู้เข้ารับการฝึกอบรมจะได้รับมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานการทำประมงพื้นบ้านอย่างยั่งยืนและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน และสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้รับไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการส่งเสริมมาตรฐานฯแก่ชาวประมงพื้นบ้านและผู้ประกอบการแปรรูปได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ มีการประเมินผลการฝึกอบรมโดยใช้แบบสอบถามความพึงพอใจต่อโครงการฝึกอบรมของผู้เข้ารับการฝึกอบรม โดยต้องมีความพึงพอใจของผู้เข้ารับการฝึกอบรมไม่น้อยกว่าระดับมาก และผู้เข้ารับการฝึกอบรมต้องผ่านการวัดผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 อีกด้วย

จำนวนคนดู: 29