ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ดำเนินกิจกรรมทำบ้านปลา เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศทางทะเลตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG 14 สิ่งมีชีวิตใต้น้ำ (Life below water)

          วันที่ 29 เมษายน 2566 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ จัดกิจกรรมทำปลา ครั้งที่ 21 ณ สมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าศาลา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีนายกอภินันท์ เชาวลิต องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา เป็นประธานเปิดกิจกรรม และ นายเจริญ โต๊ะอิแต นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง กล่าวรายงานที่มาของกิจกรรม กิจกรรมทำบ้านปลาจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา โดยดำเนินการทำบ้านปลาในช่วงเดือนเมษายนของทุกปี  มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สัตว์น้ำวัยอ่อนได้มีพื้นที่หลบภัยจากการทำการประมง รวมทั้งเป็นการสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของชายฝั่งทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารทะเลที่สำคัญของประชากรในพื้นที่ ในชาติ และของโลก ทั้งนี้กิจกรรมจัดทำบ้านปลายังเป็นการสานต่อองค์ความรู้จากภูมิปัญญาของชุมชนจากรุ่นผู้ใหญ่สู่เยาวชน สร้างความสามัคคี การร่วมแรงร่วมใจของคนในชุมชนในการอนุรักษ์แหล่งอาหารและสิ่งแวดล้อม
          กิจกรรมในครั้งนี้มีการบูรณาการความร่วมมือกันหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กรมประมง กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ศูนย์วิจัยประมงสงขลา ภาคเอกชนได้แก่ บริษัทขอนแก่นฟิชชิ่งเน็ต (KKF) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอวนเพื่อทำการประมง และบริษัทเมืองไทยประกันชีวิต องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลท่าศาลา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ตลอดจนสถานศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งมีคณะอาจารย์ และนักศึกษาร่วมกิจกรรม นอกจากนี้ยังมีเครือข่าย NGOs และองค์กรสมาคมอิสระต่างๆร่วมกิจกรรม เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย และกลุ่มหนีเที่ยว เป็นต้น โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมจำนวนกว่า 112 คน โดยการจัดทำบ้านปลาส่งผลลัพธ์ต่อการเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ และการเพิ่มขึ้นของผลจับสัตว์น้ำนำมาสู่การสร้างอาชีพและเพิ่มรายได้ของชาวประมง ควบคู่กับการดูแลฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล

 

จำนวนคนดู: 41