ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่พบหน่วยงานราชการในจังหวัดตรังเพื่อทวนสอบและขอข้อมูล ประกอบการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกระดับจังหวัด

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะที่ปรึกษาโครงการ “โครงการการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด” นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศวรรยา เลาหประภานนท์ อาจารย์สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ และผู้จัดการโครงการฯ ร่วมกับอาจารย์นิธิมา หนูหลง และอาจารย์ ดร.พัฒน์ธิดา ทองขาว อาจารย์ประจำสำนักวิชาสาธารณสุข ลงพื้นที่พบหน่วยงานราชการในจังหวัดตรัง เช่น สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดตรัง สำนักงานพลังงานจังหวัดตรัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดตรัง สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรัง และศูนย์ป่าไม้จังหวัดตรัง เป็นต้น ระหว่างวันที่ 25-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 เพื่อทวนสอบและขอข้อมูลสำหรับการประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในจังหวัดตรัง จากกิจกรรมที่เกี่ยวในหน่วยงาน พร้อมทั้งพูดคุยเรื่องแผน / โครงการ / มาตรการในการลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ) เพื่อเป็นกรอบการดําเนินงานที่จะนําไปสู่การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ร้อยละ 20 ในปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573)

          ซึ่งประเทศไทยได้เห็นความสำคัญของปัญหาโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้ให้สัตยาบัน เพื่อเข้าร่วมเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on climate Change: UNFCCC) พิธีสารเกียวโต (Kyoto Protocol) และความตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 วันที่ 28 สิงหาคม 2548 และวันที่ 21 กันยายน 2559 ตามลำดับ นอกจากนี้ ประเทศไทยได้ยื่นข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประเทศในการลดก๊าซเรือนกระจกและการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภายหลังปี ค.ศ. 2020 (Intended Nationally Determined Contribution: INDC) และเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ปี ค.ศ. 2030 (พ.ศ. 2573) ต่อสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2558 โดยกำหนดเป้าหมายขั้นต่ำที่ร้อยละ 20 จากกรณีปกติและและหากมีการสนับสนุนเพิ่มเติมจากกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งการเงิน การพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีและการเสริมสร้างศักยภาพอย่างเพียงพอ ก็จะสามารถดำเนินการได้เพิ่มเติมเพื่อให้บรรลุเป้าหมายขั้นสูงที่ร้อยละ 25 จากกรณีปกติภายในปี พ.ศ. 2573

จำนวนคนดู: 18