ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ และ รพ.สต. บ้านทุ่งชน ร่วมพัฒนา “น้ำมันนวดไพล” สูตรใหม่

          ช่วงกลางเดือนมิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉวีวรรณ คล่องศิริเวช อาจารย์ชนากานต์ สิทธิศักดิ์ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ พร้อมนักศึกษาชั้นปีที่ 3 สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ นายบรรยงค์ สมสุข ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งชน และ เจ้าหน้าที่ รพ.สต. (SDG 17) ดำเนินกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำมันนวดไพล” สูตรใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับรายวิชาเภสัชเวท รายวิชาปฏิบัติการเภสัชเวท รวมทั้งรายวิชาสปาและผลิตภัณฑ์สปาจากธรรมชาติ ของนักศึกษาสำนักวิชาเภสัชศาสตร์ รวมทั้งได้รับคำแนะนำด้านคุณสมบัติของสมุนไพรแต่ละชนิดจากเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านทุ่งชน (SDG 4) ก่อนจัดกิจกรรมถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ แกนนำสมาชิก อสม. บ้านทุ่งชน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์น้ำมันนวดไพล สูตรใหม่ ให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับบริการในคลินิกการแพทย์แผนไทย รพ.สต.บ้านทุ่งชน (SDG 3) มากขึ้น ทั้งนี้ คณาจารย์จัดถ่ายทอดความรู้และบริการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “น้ำมันนวดไพล สูตรใหม่” ผ่านช่องทางออนไลน์ และการฝึกปฏิบัติภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านทุ่งชน และคณะทำงานศูนย์บริการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

            สำหรับ “โครงการยกระดับพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจรเพื่อส่งเสริมสุขภาวะและสัมมาชีพชุมชน ปีที่ 4” ภายใต้ ชุดโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2566 จะมุ่งนำองค์ความรู้จากการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากโครงการไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น เพื่อการสร้างเศรษฐกิจฐานรากของชุมชนให้มั่นคงและยั่งยืนต่อไป โดยมุ่งเน้นชุมชนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการส่งเสริมการใช้สมุนไพรในพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน และส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรแบบครบวงจร ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ด้วยการส่งเสริมและพัฒนาการปลูกแหล่งวัตถุดิบสมุนไพร ยกระดับมาตรฐานและคุณภาพผลิตภัณฑ์ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 3 “Good Health and Well-being” มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ชุมชน เป้าหมายที่ 4 “Quality Education” สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และสนับสนุนโอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จำนวนคนดู: 37