ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ธนาคารปูม้า มวล.วช. ร่วมนำเสนอผลงานวิจัยในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) ครั้งที่ 12

          ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า มวล.วช. ร่วมจัดนิทรรศการนำเสนอผลงานวิจัย ในด้านการเกษตรและอาหารแนวใหม่ ในหัวข้อ “ธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทย”  ในงาน  “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ประจำปี 2566 (Regional Research Expo 2023) ครั้งที่ 12” ภายใต้แนวคิด “วิจัย นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน ภาคใต้โมเดล” เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมในการพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้ โดยใช้การวิจัยพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างเศรษฐกิจภูมิภาคบริหารจัดการตนเองได้อย่างยั่งยืนและต่อเนื่องไปสู่อนาคตต่อไป ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2566 ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
           โครงการธนาคารปูม้า มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้รับงบประมาณอุดหนุนการทำวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยการจัดทำธนาคารปูม้านับได้ว่าเป็นกิจกรรมต่อยอดและขยายผลงานวิจัยและเผยแพร่ที่ตอบโจทย์ความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ดังนั้นการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าและการวางแผนการบริหารจัดการปูม้าให้มีใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจะตอบโจทย์ “การกำจัดความหิวโหยและการสร้างความมั่นคงทางอาหาร” การส่งเสริมการฟื้นฟูปูม้าเพื่อรักษาผลผลิตปูม้าให้เพียงพอต่อการแปรรูปเพื่อช่วยตอบโจทย์ในเรื่องของ “การส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการจ้างงาน” นอกจากนี้โครงการธนาคารปูม้ายังเป็นโครงการที่สามารถใช้เป็นข้อมูลตอบโจทย์เพื่อลดการกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ โดยดำเนินการตามแผนและตามหลักการของ Fishery Improvement Program (FIP) ซึ่งเป็นความร่วมมือของหลายองค์กรทำงานร่วมกัน ดังนั้นการดำเนินกิจกรรมธนาคารปูม้าจึงสามารถยกระดับเศรษฐกิจของประเทศและการลดการกีดกันและกดราคาสินค้าจากต่างประเทศได้ รวมทั้งส่งเสริม “การผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน” และ “ส่งเสริมความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน”
          การถ่ายทอดงานวิชาการเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยเฉพาะการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้า และแนวทางการจัดทำธนาคารปูม้าบนพื้นฐานของความเหมาะสมทางวิชาการ เพื่อขยายผลการทำธนาคารปูม้าในหลายพื้นที่เพื่อเพิ่มประชากรปูม้าในระบบธรรมชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดูแลพื้นที่ 2 จังหวัด คือจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 62 ธนาคาร การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้และธนาคารปูม้าเพิ่มเติมในพื้นที่ที่มีศักยภาพ รวมทั้งถ่ายทอดองค์ความรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ชายฝั่งซึ่งเป็นลูกหลานชาวประมงสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์และฟื้นฟูปูม้า กิจกรรมทั้งหลายเหล่านี้ผ่านกระบวนการบูรณาการระหว่างหลายภาคส่วน เช่น มหาวิทยาลัยในพื้นที่ หน่วยงานบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐทางด้านประมง กรมประมง โรงเรียน ชุมชนประมง กลุ่มอนุรักษ์และกลุ่มท่องเที่ยวต่าง ๆ นำมาสู่การจัดทำธนาคารปูม้าที่ยั่งยืนและประสบความสำเร็จ
          นอกจากนี้ภายในงานยังมีกิจกรรมการเสวนา หัวข้อ “ธนาคารปูม้า คืนปูม้าสู่ทะเลไทย” โดย รศ.ดร.รุ่งรวี จิตภักดี ผู้อำนวยการอุทยานพฤษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผู้ร่วมวิจัย และนายเจริญ โต๊ะอิแต นายกสมาคมประมงพื้นบ้านในถุ้ง เป็นโมเดลความสำเร็จของการจัดการของการจัดการธนาคารปูม้าโดยชุมชนมีส่วนร่วม สู่ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและยกระดับเศรษกิจชุมชนในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยตอนกลาง วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 น.-10.45 น. ณ เวที Highlight Stage

จำนวนคนดู: 29