ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ขับเคลื่อนโครงการคืนสีสันให้ท่าศาลา เมืองแห่งการท่องเที่ยว เรียนรู้ และสร้างสรรค์ Creative Thasala District ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (WU-Social Engagement)

           เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เวลา 10.00 – 11.40 น. ประชุมความก้าวหน้าและเตรียมความพร้อมเพื่อประชุมร่วมกับชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาและหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมี อาจารย์สุนทร บุญแก้ว จากสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สำนักวิชาการจัดการ และ อาจารย์ ดร.วิทยา ห่อทรัพย์ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและอนิเมชัน สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์  ประเด็นร่วมหารือ

  – จัดทำสื่อเส้นทาง Logistics การเข้าถึงร้านอาหารประจำถิ่นและของดีเมืองท่าศาลา
 – การออกแบบฟู้ดสไตลิสต์ โดยการประกวด/แข่งขันอาหารถิ่นและของดีเมืองท่าศาลา
 – หารือการออกแบบมาสคอต (Mascot)เกี่ยวกับอาหาร
 – ทบทวนแผนงาน กระบวนการ และกิจกรรม เพื่อนำไปสู่การคืนสีสันให้ท่าศาลาฯ
– ทบทวน หัวข้อย่อย ของ SDGs ที่อยู่ในตัวชี้วัด /SDGs Story
– บูรณาการร่วมกับโครงการยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงอาหาร อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักวิชาการจัดการ)
          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ สำนักวิชาการจัดการ ร่วมกับ สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดียและอนิเมชัน สำนักวิชาสารสนเทศศาสตร์ และศูนย์บริการวิชาการ ได้ดำเนินการบริการวิชาการรับใช้สังคม ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ภายใต้โครงการคืนสีสันให้ท่าศาลาโดยใช้สื่อออนไลน์และเทคโนโลยี AR ต่อยอดผลการพัฒนาท่าศาลาสู่การเป็นเมืองท่องเที่ยว  เพื่อการเรียนรู้และสร้างสรรค์ เพื่อให้บริการให้คำปรึกษา ถ่ายทอดองค์ความรู้และนวัตกรรม รวมทั้งได้ประชุมร่วมกับชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา  หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชนและประชาชนในพื้นที่ ทำให้สามารถสรุปปัญหาและข้อจำกัดแนวทางการพัฒนาท่าศาลาสู่การเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ ท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  ตลอดทั้งส่งเสริมและผลักดันให้เกิดการรวมตัวผู้ประกอบการ ชุมชน และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งได้เปิดเพจ Thasala District เป็นเครื่องมือในการรองรับและส่งเสริมการท่องเที่ยว  ท่าศาลา เพื่อใช้เป็นช่องทางออนไลน์และโซเซียลในการส่งเสริมภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ท่าศาลา และประชาสัมพันธ์กิจกรรมการดำเนินงานของชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา  ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดียิ่ง เกิดการรับรู้และเริ่มเผยแพร่สู่สาธารณะมากยิ่งขึ้น และ Thasala Graffiti Project เป็นสถานที่ที่ผู้คนมากมาย ต่างหลั่งไหลมาถ่ายรูปและถูกกล่าวถึงมากที่สุดในโลกโซเชียลขณะนั้น จนกลายเป็น Landmark อีกจุดหนึ่งของอำเภอท่าศาลา สามารถคืนสีสันให้ท่าศาลา มีชีวิตกลับคืนมาอีกครั้ง ด้วยสีสันสะดุดตา ถูกถ่ายทอดผลงานศิลปะด้านการวาดภาพบนฝาผนังบ้านเรือน พื้นผิวกำแพง และผนังอาคาร และยังเครื่องมือสร้างการรับรู้และความสนใจ ดึงเสน่ห์การท่องเที่ยวผสมผสานถ่ายทอดงานศิลปะฝาผนัง ให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัส ทำให้อำเภอท่าศาลา ต้องแวะมา ไม่ใช่ทางผ่าน อีกต่อไป
          สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ.2666 แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ในจังหวัดนครศรีธรรมราช คลี่คลายลง แต่ภาพรวมท่องเที่ยวภายในจังหวัดนครศรีธรรมราชกลับมาคึกคัก มีเม็ดเงินไหลเข้าสู่ภาคท่องเที่ยว ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล ผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 3”  และแอพพลิเคชั่น “มานะ มานคร” ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในหลายกิจการ/กิจกรรม ได้รับมาตรฐาน SHA และ SHA Plus สร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวในการเดินทาง มีการตรวจคัดกรอง จัดสถานที่แบบเว้นระยะห่าง วัดอุณหภูมิ และสวมใส่หน้ากากอนามัย ซึ่งทางโครงการฯได้ร่วมหารือกับชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาในการพลิกฟื้นยกระดับการท่องเที่ยวของอำเภอ เพื่อหาจุดเด่นในแต่ละพื้นที่ หาจุดดีในแต่ละด้าน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว พร้อมผลักดันการท่องเที่ยวไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ อาทิเช่น สานต่อโครงการ Thasala Graffiti ร่วมกับชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา การท่องเที่ยวเชิงศิลปวัฒนธรรมและศาสนา ความเชื่อความศรัทธา และพัฒนาการท่องเที่ยว ส่งเสริมของดีชุมชน ภูมิปัญญาและเศรษฐกิจสร้างสรรค์  อัตลักษณ์ของแต่ละพื้นที่ในอำเภอท่าศาลา ให้พร้อมต้อนรับในช่วงการเปิดเมือง และการสร้างความปลอดภัยแก่นักท่องเที่ยว และในปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมาได้มีการบูรณาการกับ กิจกรรม MHESI Street Art สร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมสู่อัตลักษณ์ท้องถิ่น ที่ได้รับงบประมาณจัดสรรจากสำนักงานปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ภายใต้การดำเนินงานของ อว. ส่วนหน้าจังหวัดนครศรีธรรมราช สังกัดอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยนี ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ และสำนักวิชาการจัดการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รวมทั้งภาคประชาชนภายใต้การดำเนินการของชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบการและชุมชนในพื้นที่ ได้จัดทำ Street Arts จำนวน 3 จุดในพื้นที่อำเภอท่าศาลา ได้ก่อให้เกิดความต่อเนื่อง การเชื่อมโยงเรื่องราว วิถีชีวิตชุมชน วัฒนธรรม และอัตลักษณ์เชิงพื้นที่ได้อย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ดังนั้นนักท่องเที่ยวผู้มาเยือน ผู้ประกอบการ และชุมชนในพื้นที่สามารถชื่นชม เข้าใจ ได้เรียนรู้ เกิดความภาคภูมิใจ และสามารถนำมาใช้เพื่อต่อยอดในกิจกรรมการท่องเที่ยว สันทนาการ และการพัฒนาให้เกิดความต่อเนื่องอย่างยั่งยืนในอนาคต
          ทั้งนี้ หลังจากการดำเนินงานเสร็จสิ้น ทางชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาได้จัดให้มีกิจกรรม “เติมสีสันให้ท่าศาลา” เพื่อ 1) ใช้เป็นเครื่องมือในการส่งมอบชิ้นงานให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานบริการประชาชนในพื้นที่ 2) ชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาได้ใช้โอกาสดังกล่าวเพื่อทดลองกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่รวบรวมอัตลักษณ์ด้านอาหาร และของดีในพื้นที่ท่าศาลาให้แขกและประชาชนได้มาร่วมงานได้ชิม ลิ้มลอง เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและยกระดับเศรษฐกิจชุมชนในอนาคต และ 3) ทดสอบความพร้อมของสมาชิกและผู้บริหารชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา ในการจัดงานเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและต่อยอดกิจกรรม MHESI Street Arts ในพื้นที่เพื่อให้เกิดผลกระทบเชิงเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนในพื้นที่ต่อไป โดยผลการดำเนินงานบรรลุผลเป็นอย่างดีเยี่ยมทั้งในวัตถุประสงค์ข้อที่ 1) และ 2) ซึ่งมีทั้งผู้ที่มาร่วมงานซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารและตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และชุมชนให้การตอบรับอย่างดียิ่ง มีการพูดถึงและประสงค์ให้จัดกิจกรรมในลักษณะดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบของตลาดสร้างสรรค์ และการนำเอาอัตลักษณ์เชิงพื้นที่เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม วัตถุประสงค์ในข้อที่ 3) ยังต้องใช้เวลา เนื่องด้วยชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา เป็นการรวมตัวกันอย่างไม่เป็นทางการ สมาชิกและผู้บริหารชมรมต่างมีภารกิจส่วนตัวที่ต้องรับผิดชอบ แต่ก็มีศักยภาพที่สามารถผลักดันให้เกิดเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ในระดับชุมชนต่อไป ถ้าหากได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
         นอกจากนี้ ชมรมสตรีไทยใส่ใจสุขภาพและชมรมผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าศาลา ซึ่งเป็นประชากรในพื้นที่ ได้ขอใช้เส้นทางและภาพฝาผนังทั้งในส่วนของ Thasala Street Arts ที่เกิดขึ้นก่อนหน้าและเกิดขึ้นภายหลังภายใต้การดำเนินกิจกรรม MHESI Street Art ได้จัดมหกรรมเดิน-วิ่ง เช็คอินชาวท่าหลาขึ้นในวันที่ 24 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีชมรมท่องเที่ยวท่าศาลา ร่วมจัดกิจกรรมดังกล่าว มีนักวิ่งและผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งในพื้นที่และจากต่างพื้นที่ประมาณ 1,000 คน ที่ได้ร่วมกันเผยแพร่ภาพถ่ายไปสู่โลก Social Online อย่างแพร่หลาย ซึ่งช่วยสร้างการรับรู้ และกระตุ้นชุมชนในพื้นที่และชมรมท่องเที่ยวท่าศาลาได้ตระหนักเพื่อวางแผนงานด้านการทำกิจกรรมเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์เชิงเศรษฐกิจในพื้นที่ต่อไป รวมทั้งสร้างการรับรู้ให้ผู้มาเยือน นักท่องเที่ยวได้แวะมาถ่ายรูป ทำกิจกรรมในพื้นที่ต่อไป

จำนวนคนดู: 36