ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน และศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ บูรณาการเรียนการสอน เสริมกลยุทธ์การตลาด ช่วยวิสาหกิจชุมชน ร่วมกับเทศบาลตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช

          มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้โครงการการเงินและบัญชีเพื่อชุมชนอย่างต่อเนื่อง ในครั้งนี้ ดร.นิษฐิดา สุดใหม่ อาจารย์สำนักวิชาการบัญชีและการเงิน และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำนักศึกษาในรายวิชา BMF64-205 การเงินธุรกิจ (Business Finance)  เข้าร่วมกิจกรรมออกบูธจำหน่ายผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน ด้วยการบูรณาการด้านการเรียนการสอนในรายวิชาดังกล่าว  ร่วมกับผู้แทนจากเทศบาลตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช  (นายธนากร ธราพรสกุลวงศ์)  ในงาน “มหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค (Regional Research Expo)” ครั้งที่ 12 เมื่อวันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน 2566  ณ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อเป็นการเปิดโอกาสได้นำเสนอสินค้าผลิตภัณฑ์วิสหกิจชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น  สินค้าที่นำมาออกบูธ ได้แก่

  1. ไม้กวาดดอกหญ้า จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมพื้นบ้านไม้กวาดดอกหญ้า
  2. ไตปลาแห้ง จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนไตปลาแห้งครัวคุณตา บ้านพรุชนเหนือ
  3. กล้วยตาก จากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสวนจันทร์ศรี
  4. กาแฟเห็ดหลินจือ และ น้ำเอนไซม์เห็ดหลินจือแดงจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนหนานตาทองฟาร์ม

          โดยในครั้งนี้ ได้ดำเนินกิจกรรมทางการตลาดร่วมกัน ซึ่งได้มอบหมายให้นักศึกษา วิเคราะห์สถานการณ์ทางการตลาด วิเคราะห์จุดแข็ง จุดอ่อน โอกาส อุปสรรค การวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค กำหนดกลุ่มเป้าหมาย วิเคราะห์การแข่งขัน รวมถึงการศึกษาส่วนประสมทางการตลาด เป็นการใช้สถานการณ์จริงในการเรียนและทำให้นักศึกษามีทักษะและมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
          นอกจากความรู้ที่นักศึกษาได้นำไปใช้ในการปฏิบัติงานจริง นักศึกษายังได้เรียนรู้ถึงความเป็นอยู่ ปลูกฝังในเรื่องของจิตอาสาในการช่วยเหลือชุมชน แลกเปลี่ยนความรู้ ซึ่งความรู้เหล่านี้หาไม่ได้ในห้องเรียน โดยนักศึกษาได้ลงพื้นที่ช่วยการทำการตลาด จากการไปร่วมออกบูธประชาสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้สินค้าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้รับความสนใจจากผู้ร่วมงานเป็นจำนวนมาก ถือเป็นเป้าหมายที่สำนักวิชาได้กำหนดไว้ในการเรียนการสอนของรายวิชา BMF64-205 และการบริการวิชาการแก่สังคม ในรูปแบบ ของ Social Engagement ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและสังคมอย่างยั่งยืน

จำนวนคนดู: 32