ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับ ชุมชนบ้านเขาวัง อำเภอร่อนพิบูลย์ ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 21 ประเภทสิปปนนท์ เกตุทัต

          เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566   ทีมงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมแสดงความยินดีกับ ชุมชนบ้านเขาวัง หมู่ที่ 12 ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นหนึ่งในชุมชนจากพื้นที่ภาคใต้ที่ได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 21 ประเภทรางวัล สิปปนนท์ เกตุทัต  ซึ่งเป็นรางวัลที่มอบให้เป็นกำลังใจแก่ชุมชนที่เคยได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียวมาแล้ว 5 ปีขึ้นไป และยังคงอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มแข็ง และมีนวัตกรรมในการดำเนินงานเป็นความรู้ใหม่ที่เหมาะกับกาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงไปอีกด้วย    โดยพิธีมอบ “รางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 21”  จัดขึ้น ณ อาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  กรุงเทพมหานคร ซึ่งมี ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการสถาบันลูกโลกสีเขียวเป็นประธานในพิธีมอบรางวัลดังกล่าว พร้อมด้วย ศ.ดร.สนิท อักษรแก้ว  คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียว  ในการจัดกิจกรรมครั้งนี้ มี นายอรรถพล  ฤกษ์วิบูลย์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด มหาชน  คณะกรรมการรางวัลลูกโลกสีเขียวจากทุกภูมิภาค และเครือข่ายลูกโลกสีเขียวทั่วประเทศ เข้าร่วมงานในครั้งนี้กว่า 200 คน  ภายใต้แนวคิด “จุดพลังเปลี่ยนโลก”  มีผลงานที่ได้รับรางวัลรวม 44 ผลงาน โดยผลงานทั้งหมดสะท้อนถึงความสามารถในการปรับตัว ปรับเปลี่ยน และจัดการกับวิกฤตการณ์ทางสิ่งแวดล้อม และพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน ล้วนมีคุณค่าต่อสังคมและประเทศเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งรางวัลลูกโลกสีเขียว ทำหน้าที่ค้นหา ยกย่อง ชื่นชม และเป็นกำลังใจให้กับบุคคล กลุ่มคน ชุมชนที่เข้มแข็ง กลุ่มเยาวชน งานเขียน และสื่อมวลชน ที่มีผลงานด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ที่เด่นชัดและเป็นที่ประจักษ์ สามารถเป็นแบบอย่างแก่ประชาชนทั่วไปที่จะร่วมกันรักษา ดิน น้ำ ป่า ซึ่งป่าเป็นแหล่งดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางธรรมชาติที่ดีที่สุด ดังนั้นการฟื้นฟู รักษา และปลูกป่าเพิ่มขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการแก้ไขปัญหาวิกฤติโลก นำพาให้สังคมได้รู้จักกับคนและชุมชนที่ดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ ป่า ด้วยความอุตสาหะ เสียสละ โดยมิได้คาดหวังเงินทองและชื่อเสียงใด ๆ หากผลแห่งการกระทำสร้างประโยชน์แก่สังคมจนเป็นที่ประจักษ์ และได้ขยายเครือข่ายการทำงานด้านการอนุรักษ์จนมีความเข้มแข็งและเปี่ยมพลัง โดยเฉพาะ สร้างกระบวนการเรียนรู้แลกเปลี่ยนความคิด ภูมิปัญญา แนวทาง วิธีการ รูปแบบ ด้านการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่สามารถเรียนรู้นำไปปรับใช้ให้เกิดผลสำเร็จ แก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของชุมชน จนเกิดเป็นความเข้มแข็ง
          บ้านเขาวังเป็นชุมชนมุสลิมย้ายถิ่นฐานมาจากชุมชนประมงบ้านท่าชัก อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อปี 2499 สามารถปรับตัวให้อยู่รอด ชาวบ้านเรียนรู้การกินอยู่แบบสวนสมรม ต่อมา เมื่อกระแสยางพาราเป็นที่นิยมก็ปรับสวนสมรมเป็นสวนยางพารา เมื่อประสบปัญหาราคายางตกต่ำ ชุมชนก็ปรับตัวอีกครั้ง โดยการฟื้นสวนสมรม การฟื้นสวนสมรมไม่เพียงเป็นทางออกเรื่องรายได้ แต่ยังช่วยฟื้นป่าต้นน้ำเพราะชุมชนได้รับผลกระทบจากภาวะอากาศเปลี่ยน ทั้งความแห้งแล้ง พายุฝนชุก ดินพังทลาย ภัยพิบัติ ทำให้ชาวบ้านตื่นตัวเตรียมพร้อม เพื่อตั้งรับจึงมีการปลูกป่าต้นน้ำและรณรงค์ให้ช่วยกันรักษาต้นไม้บริเวณริมสองฝั่งสายห้วยและริมคลอง ริมฝาย ปลายไร่หัวสวน และบริเวณเขตอนุรักษ์พันธุ์พืชและสัตว์น้ำริมสองฝั่งคลองเขาวัง เพื่อรักษาความชุ่มชื้น การออกกฎระเบียบการใช้ป่า และจัดทำฝายชะลอน้ำ 100 กว่าจุด การสร้างคนรุ่นใหม่มีระบบคิดในการ-หมุนเวียนคนใหม่ๆ เข้ามาแทนเพื่อเรียนรู้งาน ชุมชนบ้านเขาวัง จึงนับเป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการป่าในพื้นที่สูงของภาคใต้ และมีความสามารถในการ-ปรับเปลี่ยนวิถีการเกษตรให้อยู่รอด ท่ามกลางความ-เปลี่ยนแปลงของอากาศที่เกิดจากภาวะโลกร้อนด้วยวิถีเกษตรสวนสมรม ซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมที่อดีตมีรายได้จากทุเรียน มังคุด แต่ในปัจจุบันได้มีการปลูกกระวานเพิ่มทั้งในพื้นที่สวนสมรมและสวนยางพารา ทำให้มีรายได้จากเมล็ด หน่อ รวมถึงการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น สบู่ ยาหม่อง ยาดม เจลล้างมือ น้ำยาบ้วนปาก น้ำพริกกระวาน ไก่กระวาน เป็นต้น  และชุมชนจัดทำแหล่งเรียนรู้พันธุ์ไม้ท้องถิ่นในสวนสมรม และเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ ร่วมกับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งเข้าไปร่วมดำเนินงานวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมกับชุมชนมาอย่างต่อเนื่องเพื่อหนุนเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศของชุมชน พร้อมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพี่อการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างยั่งยืนและสืบทอดวิถีภูมิปัญญาการทำเกษตรแบบสวนสมรมของชุมชน

รายละเอียดเพิ่มเติม :  

https://www.greenglobeinstitute.com/Frontend/Content.aspx?ContentID=4d1b26f5-e3f3-4f75-8170-68d930a8859f

จำนวนคนดู: 32