ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ จัดอบรมให้ความรู้ เรื่อง “โรคปากและเท้าเปื่อย การป้องกันในสุกร”แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสุกร ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา

          วันที่ 7 มีนาคม 2566 เวลา 13.00 – 15.30 น. มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย อาจารย์ สพ.ญ. รัชฎาพร บริพันธ์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี พร้อมคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ ร่วมจัดกิจกรรมอบรมให้ความรู้ เรื่อง “โรคปากและเท้าเปื่อย การป้องกันในสุกร”  แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงสุกรแบบครบวงจรฯ ณ ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
           โครงการวิทยาลัยสัตว์แพทยศาสตร์อัครราชกุมารีสู่ชุมชน (โครงการพัฒนาการจัดการสุขภาพสุกร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา) มุ่งหวังในการถ่ายทอดความรู้เพื่อพัฒนาชุมชน โดย มีการถ่ายทอดสู่ชุมชนโดยตรง ร่วมทั้งการดูแลสุขภาพสุกร การให้ความรู้เกษตรกร การพัฒนาปรับปรุงระบบสืบพันธุ์สุกร เป็นต้น สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลัก (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 1 “No Poverty” ขจัดความยากจนในทุกรูปแบบ ทุกที่ เป้าหมายข้อที่ 2 “Zero Hunger” ขจัดความหิวโหย ส่งเสริมเข้าถึงความรู้ ทักษะการเกษตรแบบยั่งยืนแก่เกษตรกรในท้องถิ่น และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” ได้มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง บูรณาการระหว่างศาสตร์และสร้างความร่วมมือทั้งหน่วยงานภายในและนอกของมหาวิทยาลัย
          ในการนี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง รัชฎาพร บริพันธ์ วิทยาลัยสัตวแพทยศาสตร์อัครราชกุมารี  ลงพื้นที่เจาะเลือดพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์หมู  จำนวน 9 ตัว เพื่อนำไปตรวจหาเชื้อโรคแท้งติดต่อ ซึ่งเป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่สำคัญของสุกร และได้มีการติดตามสอบถามอาการผิดปกติของพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์
          ผลการตรวจเลือด ไม่พบโรคแท้งติดต่อในพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ของสุกร สุกรทุกตัวปลอดภัยจากโรคแท้งติดต่อ รายงานผลจากห้องปฏิบัติการ ตรวจหาเชื้อโดย อาจารย์ สัตวแพทย์หญิง รัชฎาพร บริพันธุ์

จำนวนคนดู: 21