ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ตัวอย่าง “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” 1 ใน 5 พื้นที่เป้าหมายจากทั่วประเทศ

          เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ ณ บ้านหาดสมบูรณ์ ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) นำโดยสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) กระทรวงสาธารณสุข และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว. ร่วมกับเครือข่ายธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์ เพื่อจัดกิจกรรมถอดบทเรียนจากพื้นที่ภายใต้โครงการกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDG Localization พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1
           กระบวนการในการเรียนรู้ครั้งนี้เปิดโอกาสให้พื้นที่สะท้อนเรื่องราวเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมร่วมถอดบทเรียนเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิด SDGs INSIGHT อธิบายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จ รวมถึงปัญหาและการแก้ไข ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการ ได้แก่ ดร. นพ.วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ ที่ปรึกษาสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผศ. ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนายปิยะ แซ่เอีย ประธานธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์
           นอกจากนี้ ยังมีผู้แทนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมาร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็น เช่น บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน กรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น
          โดยศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ตัวอย่าง “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ตัวอย่าง 1 ใน 5 พื้นที่เป้าหมายจากทั่วประเทศ โดยพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 นี้ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการการสร้างวงจรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งบทเรียนที่ได้จากการทำงานกับพื้นที่จะถูกนำเสนอบนเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน “เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ในเดือนธันวาคม 2566 นี้

 

ที่มา : เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDSN Thailand

จำนวนคนดู: 124