ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับ รพ.สต.ชุมชนสาธิตฯ จัดโปรแกรมดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงและผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

          ช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2566 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์จิรพัฒน์ นาวารัตน์ อาจารย์ ดร.จารุภา เลขทิพย์ สำนักวิชาสหเวชศาสตร์ อาจารย์พิริยา ชนสุต อาจารย์ ดร.ธนา จักษ์เมธา สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บูรณาการโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมผ่านกิจกรรมพัฒนาทักษะการผลิตชาสมุนไพรสำหรับชุมชนเพื่อป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) แก่แกนนำ อสม. และเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา สำหรับกิจกรรมการดูแลฟื้นฟูผู้สูงอายุทางคณาจารย์ร่วมบูรณาการจัดโปรแกรมฟื้นฟูสมรรถภาพทางการเคลื่อนไหวแก่ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงเฉพาะราย จำนวน 13 ราย และโปรแกรมการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เฉพาะราย จำนวน 8 ราย เพื่อเป็นแนวทางให้ แกนนำ อสม. และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา ดำเนินการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ส่วนสื่อองค์กร มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้ร่วมกิจกรรมเพื่อผลิตสื่อ Walailak Channel สำหรับเผยแพร่ผลงานวิชาการรับใช้สังคมที่มีผลกระทบตามแนวทางการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 3 มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่นชุมชน
          “โครงการสร้างเสริมและสมรรถภาพกลุ่มวัยก่อนสูงอายุและวัยผู้สูงอายุ พื้นที่ชุมชนสาธิตวลัยลักษณ์พัฒนา” เป็นโครงการต่อเนื่องปีที่ 4 ภายใต้ ชุดโครงการพันธกิจวิชาการรับใช้สังคมยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์แบบองค์รวม (WU – Social engagement) ปีงบประมาณ 2566 มุ่งเน้นการดูแลบริการผู้ป่วยให้ครอบคลุมผู้ป่วยระยะกึ่งเฉียบพลัน และจัดทำฐานข้อมูลระบบสุขภาพ (eHealth) เพื่อเป็นฐานข้อมูลผู้ป่วยให้ง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ให้บริการทั้งผู้ให้บริการในพื้นที่ระดับ รพ.สต. และแม่ข่าย รวมถึงการส่งต่อข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งเน้นให้บริการส่งเสริมและป้องกันโรคแก่กลุ่มก่อนวัยผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค โดยบูรณาการร่วมกับ “โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการด้านแพทย์แผนไทยเพื่อส่งเสริมสุขภาวะชุมชนและสัมมาชีพชุมชน ปีที่ 2” ที่มุ่งพัฒนาบุคลากร ตลอดจนแกนนำสุขภาพชุมชน ส่งเสริมการผลิตและใช้สมุนไพรท้องถิ่นสำหรับการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งการร่วมมือของทั้งสองโครงการจะสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายข้อที่ 3 “Good Health and Well-being” มุ่งเน้นการส่งเสริมสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้สูงอายุในระดับท้องถิ่น ชุมชน และเป้าหมายข้อที่ 17 “Partnerships for the Goals” มีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

จำนวนคนดู: 24