ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมถอดบทเรียนกลไกเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ ในงาน"มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)"

          เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ และในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า ร่วมเป็นวิทยากร หัวข้อ “กลไกเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ” เป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จของการทำงานวิจัย ภายใต้กลุ่มเศรษฐกิจที่รับทุนไปในช่วง 3-5 ปี ที่ผ่านมา ณ ห้องกลุ่มเฉพาะเรื่อง ชุดโปรแกรมสัตว์เศรษฐกิจ เวลา 09.00 – 12.00 น. ห้อง Lotus 8 ร่วมกับนักวิจัยเครือข่ายประกอบด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น โครงการด้านโคนม และแพะ ผู้ช่วยสตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (น่าน) โครงการปลาสวยงาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ปัญญาทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการวิจัยไก่พื้นเมือง (ประดู่หางดำ) และ ผู้ช่วยสตราจารย์ ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย สร้างเศรษฐกิจชุมชนได้สูงในหัวข้อเครือข่ายขับเคลื่อนวิจัยสู่ความสำเร็จ ในประเด็นถอดบทเรียนความสำเร็จของโครงการวิจัย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญเครือข่ายในการขับเคลื่อนงานวิจัย กลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ ตลอดจนแนวทางขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืน และปัญหาหลักๆของกลไกการขับเคลื่อนเครือข่าย ในงาน”มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2566 (Thailand Research Expo 2023)” ระหว่างวันที่ 7-11 สิงหาคม 2566 ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ ภายใต้เเนวคิด “ขับเคลื่อนงานวิจัย สู่เศรษฐกิจยุคใหม่ สร้างไทยยั่งยืน” โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
          โดยความสำคัญของเครือข่ายต่อความสำเร็จของงานวิจัย พบว่าในการขับเคลื่อนผลผลิตงานไปสู่การใช้ประโยชน์ เครือข่ายเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของการทำงานวิจัยในยุคปัจจุบัน โดยบทบาทของเครือข่ายในการมีส่วนร่วมในการวิจัยนั้น หากเครือข่ายวิจัยเข้ามามีบทบาทในการวิจัยมากเท่าไร ความสำเร็จก็จะมีมากเท่านั้น อย่างไรก็ตามการสนับสนุนของเครือข่ายก็มีความแตกต่างกัน ดังนั้นการวิเคราะห์ความสำคัญและเข้าใจเงื่อนไขของเครือข่าย และแสวงหาความสามารถที่เครือข่ายจะมาสนับสนุนให้งานวิจัยเกิดการใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีความสำคัญ โดยวงแลกเปลี่ยนได้พูดคุยกันถึงประเด็นกลุ่มภาคีเครือข่ายได้ 5 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
     1. เครือข่ายของกลุ่มนักวิจัยและหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยนักศึกษาเครือข่ายที่ต้องสร้างให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทีมวิจัยต้องมีหลากหลายขึ้น มีความเชี่ยวชาญที่เฉพาะด้านในประเด็นโจทย์วิจัยที่เป็นปัญหา รวมถึงหน่วยสนับสนุนการจัดการงานวิจัยในมหาวิทยาลัยและหน่วยให้ทุนวิจัย ซึ่งมีความสำคัญในการอำนวยและสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยไปสู่สังคมได้กว้างขวางขึ้น
     2. เครือข่ายกลุ่มเป้าหมาย (User) คือผู้ที่รอใช้ประโยชน์จากงานวิจัยโดยตรง และมีส่วนร่วมในการทำงานวิจัยกับนักวิจัย งานวิจัยที่ประสบความสำเร็จมักจะเห็นกระบวนทำงานที่ให้ผู้ใช้ประโยชน์เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ตั้งโจทย์วิจัยร่วมกันและลงมือปฏิบัติการงานวิจัยไปด้วยกัน เกิดการสร้างการเรียนรู้และเปลี่ยนทัศนคติและทักษะให้กับกลุ่มเป้าหมายได้จริง ทำให้การนำเอาผลผลิตงานวิจัยไปใช้จริงและเปลี่ยนแปลงการผลิตของตนเองได้ก่อนกลุ่มอื่น ๆ
     3.เครือข่ายผู้นำการเปลี่ยนแปลง คือคนที่มีบทบาทในการขยายผล ปัจจุบันมีการใช้คำ “นวัตกรชุมชน” คือผู้นำงานวิจัย นวัตกรรม ความรู้ เทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปขยายผลถ่ายทอด และเชื่อมโยงกับกลไกอื่น ๆ ซึ่งในงานวิจัยที่ดี นวัตกรไม่เพียงแต่เป็นผู้นำในกลุ่มที่ประสบความสำเร็จเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงผู้ที่มีบทบาททางหน้าที่กับกิจกรรมเหล่านั้น เช่นนักส่งเสริมเกษตร นักวิชาการ นักยุทธศาสตร์ นักพัฒนา คนเหล่านี้คือภาคีที่มีบทบาทในการนำผลผลิตงานวิจัยไปสู่การถ่ายทอดและประสานงานกันอย่างต่อเนื่อง
     4. เครือข่ายภาคภาคเอกชน/ผู้ประกอบการท้องถิ่น คือผู้ที่นำผลผลิตไปสู่ผู้บริโภค หรือภาคบริการ ซึ่งหมายถึงการสร้างโอกาสใหม่ให้กับตลาด ที่จะกลายเป็นรายได้ใหม่ที่ดีขึ้น
     5. เครือข่ายผู้สนับสนุนต่อเนื่อง (Supporter) คือผู้ที่มีบทบาทหน้าที่ในการสนับสนุนงบประมาณเพื่อการขยายผลผลิตจากงานวิจัยไปให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในวงกว้าง และเชื่อมโยงจนกลายเป็นแผนงาน โครงการ ภายใต้กลยุทธ์ของหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องหลัก ทั้งภาครัฐ อปท. วิสาหกิจ องค์กรพัฒนาเอกชน
          #กลไกในการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ
          การขับเคลื่อนงานวิจัยสู่ความสำเร็จ จำเป็นต้องมีการออกแบบวิธีการทำงานให้เป็นที่ยอมรับ ซึ่งวงสนทนาได้เรียนรู้วิธีการทำงานผ่านโครงการวิจัยต่าง สามารถสรุปกลไกที่เป็นตัวขับเคลื่อนการทำงาน พบว่าควรมีองค์ประกอบที่สำคัญดังนี้
     1. ชุดข้อมูลที่ถูกต้องและมีการยืนยันผลเชิงประจักษ์ ให้ทุกฝ่ายมีความเชื่อถือและมั่นใจต่อการใช้เป็นเงื่อนไขในการจัดการและพัฒนาขยายผล
     2. การมีเป้าหมายร่วมการทำงานร่วมกันของเครือข่ายต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วม ซึ่งเป้าหมายร่วมที่ดีต้องมีคุณค่าและผลประโยชน์ในรูปแบบ Win-Win คือการบรรลุเป้าหมายที่ตั้งใจของทุกฝ่าย และตอบโจทย์การสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริง
     3. การทำงานด้วยความร่วมมือ ที่ให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง และใช้บทบาทหน้าที่ของภาคีมาส่งเสริมการทำงาน และเข้าใจเงื่อนไข ข้อจำกัดของภาคีเครือข่ายในการทำงาน เพื่อช่วยเสริมจุดอ่อนให้เครือข่ายได้สามารถร่วมขับเคลื่อนด้วยความสุข
     4. มีพื้นที่ร่วมทำงาน ที่ทำให้เครือข่ายเข้าถึง เข้าร่วมได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งพื้นที่อาจหมายถึงกิจกรรม วิธีการที่ทำให้ทุกคน มีโอกาสได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง
     5. มีกติกา ข้อตกลงร่วมกันเมื่อมีพื้นที่แล้ว ที่สำคัญคือการมีกฎกติกา ร่วมกันของเครือข่ายต่อการทำงาน ต่อการดำเนินงานสู่เป้าหมายร่วมกัน เพื่อให้ทุกคนอยู่ในตำแหน่งการทำงานที่เหมาะสมและสนับสนุนได้อย่างถูกต้อง
     6. มีกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้เครือข่าย ผู้รับประโยชน์ได้เรียนรู้ และทบทวนตัวเอง และสร้างการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

          #แนวทางการพัฒนาขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืน  
          การขับเคลื่อนเครือข่ายสู่ความยั่งยืนนั้น มีความน่าสนใจมากในความสำเร็จของหลายโครงการ ซึ่งแนวทางที่เรียนรู้ผ่านตัวอย่างที่นั้น คือการให้ความสำคัญกับเครือข่าย และการให้เครือข่ายมีส่วนรับผิดชอบในการทำงาน ตามบทบาทที่เป็นหน้าที่ของเขาเอง รวมถึงการให้เครือข่ายได้คุณค่าอย่างเหมาะสมและนำไปขยายผลได้จริง มีข้อเรียนรู้มากมาย โครงการวิจัยที่ประสบความสำเร็จในการใช้และขยายผล ที่เรียนรู้ผ่านโครงการจากทั้ง 4 ท่านนั้น เงื่อนไขสำคัญที่เรียนรู้ เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จคือการมีเครือข่ายมาสนับสนุนและร่วมทำงานกับโครงการวิจัย โดยมีคำนิยามคำว่าเครือข่ายของวิทยากรทั้ง 4 ท่านคือ
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มนตรี ปัญญาทอง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกว่า “เครือข่าย” คือ “ความยั่งยืน”
     ผู้ช่วยศตราจารย์ ดร.เอกชัย ดวงใจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา (น่าน) บอกว่า “เครือข่าย” คือ “ความเกื้อกูล”
     ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ บอกว่า “เครือข่าย” คือ “ทีมเวิร์ค” เครื่องแกงปักษ์ใต้ที่มีความลงตัว แต่เข้มข้น
     ศาสตราจารย์ ดร.ไชยณรงค์ นาวานุเคราะห์ จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น บอกว่า “เครือข่าย” คือ “เพื่อน พันธมิตร”
          ได้ฟังจากทุกท่าน ก็ได้เห็นนิยามต่าง ๆ ที่ให้ความหมายสื่อถึงการมองเครือข่ายที่เป็นผู้ที่มีความสำคัญต่อการทำงานและความสำเร็จของงานวิจัย และยิ่งไปกว่านั้น เมื่อทำงานไปนาน ๆ เครือข่ายมักจะกลายเป็น “คนคอเดียวกัน”

ข้อมูลข่าวจาก ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ผู้ดำเนินรายการ

 

จำนวนคนดู: 14