ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

กาละแมข้าวพื้นเมืองน้ำตาลจาก ต่อยอดคุณค่าข้าวพื้นเมืองเพื่อเพิ่มมูลค่าสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชนไร่จากและนาข้าวตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช

          เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2566  ศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับ สำนักวิชาเทคโนโยลียีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร โดย ผศ.ดร.วิสาขะ  อนันธวัช  และ องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  จัดกิจกรรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การทำกาละแมข้าวพื้นเมืองน้ำตาลจาก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสืบสานภูมิปัญญาการทำขนมพื้นบ้านโดยใช้วัตถุดิบจากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน คือ น้ำตาลจากและข้าวกาบดำ และเพิ่มคุณค่าในการกวนขนมยาหนมซึ่งเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน โดยนำเอากระบวนการทำกาละแมมาผสมผสานกับวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่น เพื่อให้ได้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ของชุมชนในรูปแบบของ กาละแมข้าวพื้นเมืองน้ำตาลจาก ที่ชุมชนสามารถแปรรูปและพัฒนาสูตรได้เอง  โดยมีผู้สนใจร่วมเขาร่วมการฝึกอบรมจำนวนประมาณ 25 คน จากวิสาหกิจชุมชนแปรรูปน้ำตาลจาก หมู่ที่ 5  และเกษตรกรผู้ทำไร่จากที่สนใจจากพื้นที่หมู่อื่นๆ โดยการสนับสนุนงบประมาณจาก องค์การบริหารส่วนตำบลขนาบนาก และโครงการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและการต้านริ้วรอยของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่ดำเนินการโดย สำนักวิชาแพทยศาสตร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ  ซึ่งได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) ปีงบประมาณ 2566
          ในการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ การกวนกาละแมข้าวพื้นเมืองน้ำตาลจากนั้น ได้นำเอาน้ำตาลจากซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักในการประกอบอาชีพทำไร่จากของชุมชนตำบลขนาบนาก ที่อยู่ในรูปแบบของน้ำผึ้งจากเหลว ซึ่งเป็นน้ำตาลมีคุณสมบัติค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ นำมาเป็นส่วนผสมหลักทดแทนน้ำตาลชนิดอื่น และนำเอาแป้งข้าวกาบดำ ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองที่เกษตรปลูกกันมากในพื้นที่ตำบลขนาบนาก ซึ่งมีปริมาณธาตุเหล็ก แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส โปตัสเซียม  โซเดียม และสังกะสีสูง มาเป็นส่วนผสมเพิ่มคุณค่าทางอาหารให้กับผลิตภัณฑ์กาละแมของตำบลขนาบนาก  อีกทั้งได้นำเอาใบจากซึ่งมีทุกบ้านในตำบลมาเป็นวัสดุห่อขนมกาละแมเป็นบรรจุภัณฑ์ที่มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นของชุมชนที่ทำอาชีพไร่จากมากที่สุดในประเทศ  โดยชุมชนจะได้นำเอาสูตรการกวนกาละแมดังกล่าวไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สินค้าของฝากจากชุมชนตำบลขนาบนากที่มีคุณค่า สามารถสร้างรายได้เสริม และสร้างคุณค่าและมูลค่าให้วัสดุท้องถิ่นให้นำมาใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า  ซึ่งเป็นอีกช่องทางในการสร้างเสริมเศรษฐกิจครัวเรือน การอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นและเกิดความยั่งยืนในการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นอย่างคุ้มค่า

จำนวนคนดู: 71