ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินโครงการวิจัยสถาบัน “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์”

          นางสาวฟาเดีย เชิญถนอมวงศ์ และนายธนพิพัฒน์ สัมพันธมาศ ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นเลิศสู่สากล ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินโครงการวิจัยสถาบัน “การประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ซึ่งมีรองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ เป็นที่ปรึกษาโครงการฯ การดำเนินโครงการฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก (คาร์บอนฟุตพริ้นท์) จากกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย โดยใช้ข้อมูลกิจกรรมในปีงบประมาณ 2565 เป็นปีฐานในการประเมิน ตามวิธีการมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ซึ่งแบ่งขอบเขตการประเมินออกเป็น 3 ขอบเขต ได้แก่ ขอบเขตที่ 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง ขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานไฟฟ้า และขอบเขตที่ 3 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมอื่น ๆ 
               การดำเนินงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และก๊าซเรือนกระจกเป็นตัวชี้วัดที่สำคัญ ในส่วนของ Energy & Climate Change ในเกณฑ์ UI GreenMetric World University Rankings และ เป้าหมาย SDG ที่ 13 (Climate action) ในเกณฑ์ของ การจัดอันดับ Time higher Impact Rangking ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ระบุในแผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย ปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ชัดเจนในเรื่องของการพัฒนามหาวิทยาลัยสีเขียว ด้วยกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืน
                 โดยผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในปีงบประมาณ 2565 พบว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้ไฟฟ้าขององค์กร   มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด ร้อยละ 85.06 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รองลงมา ได้แก่ กิจกรรมจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 1 ร้อยละ 14.5  ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีแหล่งกำเนิดหลักจากการใช้สารเคมีทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ และกิจกรรมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในขอบเขตที่ 3 ร้อยละ 0.44 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีแหล่งกำเนิดหลัก คือ การใช้กระดาษ A4 ตามลำดับ ผลการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พบว่า กิจกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด มาจากกิจกรรมการใช้ไฟฟ้าขององค์กร ดังนั้นจึงควรมุ่งเน้นการลดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า

จำนวนคนดู: 35