ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ขอแสดงความยินดีกับโครงการวิจัยยกระดับการประมงสู่มาตรฐานสากล ม.วลัยลักษณ์ ได้รับรางวัล “โครงการวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ลำดับที่ 2” ครบรอบ 20 ปี สวก.

          ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ขอแสดงความยินดีกับคณะผู้วิจัย โครงการพัฒนาเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและยกระดับการประมงปูม้าสู่มาตรฐานสากล (Fishery improvement program: FIP) ในบริเวณอ่าวบ้านดอน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นโครงการวิจัยด้านการเกษตรดีเด่น ประจำปี 2566 ลำดับที่ 2 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยฯ เข้ารับมอบประกาศนียบัตร จาก นายชวลิต ชูขจร ประธานคณะกรรมการสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ในโอกาสครบรอบ 20 ปี สวก. ภายในงานการประชุมวิชาการและจัดการแสดงผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร ภายใต้หัวข้อ “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทย ด้วยงานวิจัย และนวัตกรรม” AgriTech and Innovation (Moving Forward : From Local to Global) เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
                   การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้ยกระดับการประเมินมาตรฐานการประมงไทย FIP ปูม้า จากเดิมก่อนเริ่มโครงการปี 2017 อยู่ในระดับ C ยกระดับเป็น A ในปี 2018 ถึง 2023 นอกจากนี้ผลงานวิชาการจากงานวิจัยยังนำไปประยุกต์ใช้ประโยชน์เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรปูม้าในพื้นที่ ส่งผลให้เพิ่มผลผลิตสัตว์น้ำในธรรมชาติ สามารถเพิ่มจำนวนการจับสัตว์น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน จากเดิมมีผลจับน้อยกว่า 10 กก/ลำ/วัน เป็น 15-20 กก/ลำ/วัน และในบางช่วงที่คลื่นลมเหมาะสมมากถึง 50 กก/ลำ/วัน และในส่วนของชาวประมงพาณิชย์ผลจับเพิ่มจาก 40-60 กก/ลำ/วัน เป็น 70-80 กก/ลำ/วัน และในบางช่วงสูงกว่า 100 กก/ลำ/วัน นอกจากนี้ข้อมูลจากงานวิจัยสามารถนำมาใช้ประโยชน์เชิงนโยบายของประเทศ ในการเสนอแนะเพื่อประกาศพื้นที่แหล่งหลบภัยสัตว์น้ำสำหรับเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และการเสนอแนะแนวทางการจัดทำธนาคารปูม้า และจุดปล่อยปูม้าที่เหมาะสมเพิ่มอัตราการรอดของปูม้าในแหล่งน้ำธรรมชาติ รวมทั้งการบริหารจัดการระบบนิเวศที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูทรัพยากรปูม้าอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์  สวัสดี กล่าวว่า โครงการวิจัยและพัฒนาเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรประมงตามมาตรฐานสากล ดำเนินการโดยบูรณาการความร่วมมือของหลายภาคส่วนมาก ๆ อาจจะพูดได้เต็มปากว่าเป็นโครงการบูรณาการอย่างแท้จริง ทั้งบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และบูรณาการข้ามศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี พันธุศาสตร์ ประมง สมุทรศาสตร์ สังคม และเศรษฐศาสตร์  มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับการพัฒนาทางการประมงของไทย โดยบูรณาการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ประกอบด้วย ม.วลัยลักษณ์   ม.อุบลราชธานี ม.เกษตรศาสตร์ ม.เทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย (วิทยาเขตตรัง) ม.ราชภัฎรำไพพรรณี กรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย บริษัทส่งออกปูม้าต่างประเทศ องค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) และ NFI crab council อเมริกา และ Marine resources assessment group (MRAG) จากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระประเมินโครงวิจัยชิ้นนี้ตามมาตรฐานสากลตามกรอบ FIP และมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้ส่วนกลางในการบูรณาการความร่วมมือ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการสามารถนำไปสู่การกำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การประมงของประเทศ เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมเชิงประจักษ์ และที่สำคัญมีผู้ใช้ประโยชน์จากโครงการวิจัยครั้งนี้อย่างแท้จริง

จำนวนคนดู: 41