ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จชุมชนต้นแบบ SDG “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย”

         เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า และนายปิยะ แซ่เอีย ประธานธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์ พร้อมคณะ ร่วมถอดบทเรียนความสำเร็จชุมชนต้นแบบ SDG “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” (Thailand Sustainable Development Forum) จัดโดยมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (International Health Policy Program Foundation) โดยมีที่ได้รับคัดเลือก “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1” 5 พื้นที่ ณ โรงแรมนีรารีทรีท อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม
          โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกในการบรูณาการการสร้างและจัดการความรู้แบบข้ามศาสตร์ระหว่างภาคส่วน และเชื่อมโยงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในประเทศไทย โดยมีการดำเนินงานต่อเนื่องมา ตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 ในปี พ.ศ. 2566 โดยการถอดบทเรียนความสำเร็จชุมชนต้นแบบ SDGs ในครั้งนี้ได้ให้ความสำคัญในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ (SDGs Localization) เพื่อสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างส่วนร่วมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดยศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นพื้นที่ตัวอย่าง “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ตัวอย่าง 1 ใน 5 พื้นที่เป้าหมายจากทั่วประเทศ  ซึ่งกระบวนการในการเรียนรู้ครั้งนี้เปิดโอกาสให้พื้นที่สะท้อนเรื่องราวเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมร่วมถอดบทเรียนเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิด SDGs INSIGHT อธิบายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” ในการจัดการบริหารกลุ่มด้านต่าง ๆ อาทิเช่น ผู้นำกลุ่ม เครือข่าย การบริหารการเงิน การสร้างคนรุ่นใหม่ และการสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์ หวงแหนทรัพยากรในพื้นที่ รวมถึงการแก้ปัญหาและการแก้ไข เพื่อนำมาสู่ปัจจัยความสำเร็จ และเป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ
          นอกจากนี้คณะได้ลงพื้นที่ดูงาน “หมู่บ้านนครปฐม สามพรานโมเดล” ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยขับเคลื่อนการบูรณาการภายใต้แนวคิด “ระบบอาหารที่ยั่งยืน” เพื่อสร้างความมั่นคงและความปลอดภัยทางอาหารในระดับครัวเรือนและชุมชน ยกระดับคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยมีการใช้โมเดลธุรกิจที่เกื้อกูลสังคม และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนบนฐานการค้าที่เป็นธรรม และเป็นพื้นที่ศูนย์เรียนรู้มีชีวิต สอดแทรกการใช้ระบบห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ที่ครบวงจร นำไปสู่การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาวะอย่างสมดุลภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน

จำนวนคนดู: 32