ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย รศ.ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ สำนักวิชาแพทยศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ นำเสนอผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการจัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและการต้านริ้วรอยของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีฯ

          โครงการ จัดทำฐานข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ และการศึกษาคุณค่าทางโภชนาการและคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระและการต้านริ้วรอยของข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.ศราวุธ ปาลิโภชน์ สังกัดสำนักวิชาแพทยศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ นำเสนอผลการดำเนินงานฉบับสมบูรณ์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 ณ ศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) และศูนย์อำนวยการและประสานการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณวิจัย ปีงบประมาณ 2566
          ผลงานวิจัยได้รับการยอมรับทั้งความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งด้านวิชาการและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยพบว่าข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ชุมชนยังมีการทำนาข้าวพื้นเมืองมากที่สุดในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง ที่อำเภอปากพนังใน 4 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านเพิง ตำบลท่าพญา ตำบลขนาบนาก และตำบลปากแพรก โดยมีสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เกษตรกรนิยมปลูก ได้แก่ ข้าวลูกลาย ข้าวช่อหลุมพี ข้าวเหลือง ข้าวกาบดำ เป็นต้น ซึ่งคุณสมบัติที่โดดเด่นของข้าวพันธุ์พื้นเมือง มีสารอาหารสำคัญ อาทิ แมกนีเซียม โปแทสเซียม สังกะสี ที่มีปริมาณสูงกว่าข้าวทั่วไปหลายเท่า และมีโซเดียมต่ำ มีสารต้านอนุมูลอิสระ โดยเฉพาะข้าวกาบดำและช่อหลุมพีที่มีฤทธิ์ต่อการยับยั้งเซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ดี ในขณะที่ข้าวกาบดำและลูกลายที่มีคุณสมบัติต้านริ้วรอยในเซลล์ได้ดี
          อีกทั้งโครงการได้ประสานความร่วมมือกับสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปน้ำตาลจากตำบลขนาบนาก ในการนำข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่มีความโดดเด่นในคุณค่าและคุณสมบัติเฉพาะตัว คือ ข้าวกาบดำ ที่นิยมกันในตำบลขนาบนาก เป็นส่วนผสมในการทำอาหารในรูปแบบของแป้ง ผสมผสานกับวัตถุดิบในท้องถิ่นของตำบล คือ น้ำตาลจากเพื่อแปรรูปเป็นขนมกาละแม ซึ่งเป็นอาหารพื้นถิ่นในวิถีชีวิตที่กระบวนการไม่ซับซ้อน เป็นของฝากญาติมิตร โดยเฉพาะงานประเพณีต่างๆ ซึ่งหลังจากมีการถ่ายทอดความรู้ในการทำกาละแมให้กับชุมชนแล้วนั้น ชุมชนได้ผลิตและจำหน่ายกาละแมเป็นรายได้เสริมของกลุ่มอีกด้วย
          โครงการวิจัยได้สื่อสารและถ่ายทอดองค์ความรู้จากการวิจัยดังกล่าวไปยังกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์วิจัยข้าวนครศรีธรรมราช สำนักงานเกษตรอำเภอปากพนัง เพื่อหารือแลกเปลี่ยนแนวทางการนำคุณค่าด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ด้านสุขภาพต่อผู้บริโภค ซึ่งคาดหวังให้องค์ความรู้คุณสมบัติคุณค่าด้านต่างๆ ของข้าวพื้นเมืองที่เผยแพร่ไปจะช่วยสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรที่ทำนาข้าวหันมาบริโภคข้าวพื้นเมืองเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ดังกล่าวให้ถึงผู้บริโภคและคนทั่วไปได้รู้จักข้าวพื้นเมืองในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมากยิ่งขึ้น ผ่านทางสื่อช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงการรับรู้ได้ง่ายที่สุด ให้รับทราบถึงคุณค่าทางอาหารโดยเฉพาะในรูปแบบของข้าวกล้องเพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกันโรค

จำนวนคนดู: 20