ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ศูนย์บริการวิชาการ และวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมประชุมขับเคลื่อนโครงการ Tha Sala – The Global Neighbour (ท่าศาลา เพื่อนบ้านของทุกคน) ปีที่ 2

          เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2566 เวลา 10.30 – 12.00 น. ณ สำนักงานวิทยาลัยนานาชาติ อาคารปฏิบัติการทางสถาปัตยกรรมเเละการออกแบบ เจ้าหน้าที่ศูนย์บริการวิชาการฝ่ายวิชาการรับใช้สังคมและพัฒนาเชิงพื้นที่ และฝ่ายส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและความเป็นเลิศสู่สากล ได้เข้าร่วมประชุมกับคณาจารย์จากวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์นำโดย ดร.สุชิตา มานะจิตต์ รักษาการแทนรองคณบดีวิทยาลัยนานาชาติ และอาจารย์ ดร.กรวรรณ รัตนบุรี เพื่อหารือแนวทางการขับเคลื่อนโครงการวิชาการรับใช้สังคมภายใต้โครงการ “Tha Sala – The Global Neighbour (ท่าศาลา เพื่อนบ้านของทุกคน) ปีที่ 2”
          โครงการ “Tha Sala – The Global Neighbour (ท่าศาลา เพื่อนบ้านของทุกคน) ปีที่ 2” เป็นโครงการต่อเนื่องที่มีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้พัฒนาศักยภาพในการใช้ภาษาอังกฤษ และเตรียมความพร้อมในด้านบุคลากรและทรัพยากร และสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้พร้อมต้อนรับนักศึกษาและบุคลากรชาวต่างชาติ ทั้งที่มาจากมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และกลุ่มชาวต่างชาติทั่วไป ซึ่งได้ยึดตามกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ในมิติต่าง ๆ ได้แก่ การมอบโอกาสทางการศึกษาแก่ชุมชนโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (SDG 4) การสนับสนุนกลุ่มธุรกิจชุมชนเพิ้อส่งเสริมความเข้มแข็งของเศรษฐกิจฐานราก (SDG 1) และการสร้างภาคีเครือข่ายร่วมกับชุมชนรายรอบและหน่วยงานท้องถิ่นเพื่อร่วมกันพัฒนาสังคมสู่ความยั่งยืน (SDG 17) ในปีแรก ตัวโครงการได้มีการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) โดยเน้นกลุ่มผู้รับบริการเป็นกลุ่มผู้ประกอบร้านอาหารหน้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์จำนวน 6 แหล่ง
          โดยในที่ประชุม คณะทีมงานได้มีการถอดบทเรียน ผลลัพธ์ ปัญหา อุปสรรค และแนวทางการแก้ไขจากการจัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมา และในปีงบประมาณ 2567 นี้ ทางคณะทีมงานได้มีการขยายกลุ่มผู้รับบริการที่เป็นผู้ประกอบการร้านอาหารเพิ่มขึ้นทั้งที่อยู่รายรอบหน้ามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และนอกมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เพื่อส่งเสริมการขยายโอกาสทางการศึกษาแก่สังคมโดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ คณะทีมงานมีการวางแผนเพื่อที่จะจัดทำเมนูอาหารสามภาษาให้กับกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน และการจัดทำเกียรติบัตร พร้อมทั้งการอบรมเชิงปฏิบัติการและการออกตราสัญลักษณ์สติกเกอร์ที่แสดงถึงการผ่านการอบรมของร้านอาหาร
          โดยภายหลังจากการประชุม คณะทีมงานจะทำการลงพื้นที่เพื่อสำรวจความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อทำการเชิญชวนการเข้าอบรมและการสร้างภาคีเครือข่ายกลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารในการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการร้านอาหารต่าง ๆ ตามเป้าหมายพันธกิจของโครงการ

จำนวนคนดู: 36