ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ ประชุมหารือแนวทางการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษของนักเรียนโรงเรียนชุมชนใหม่และโรงเรียนชุมชนรายรอบมหาวิทยาลัย ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement) มิติด้านการศึกษา ปีงบประมาณ 2567

             เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2566 เวลา 15.00 – 16.30 น. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พัชรี อิ่มศรี สาขาวิชาภาคอังกฤษ สำนักวิชาศิลปศาสตร์ และคณะทำงานศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประชุมหารือแนวทางการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษโรงเรียนชุมชนใหม่และชุมชนรายรอบ ภายใต้โครงการวิชาการรับใช้สังคม Social engagement ปีงบประมาณ 2567 เพื่อตอบโจทย์ SDG 4 เป็นการจัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษานอกมหาวิทยาลัย
            การพัฒนาโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement)  มิติด้านการศึกษา มุ่งพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษและยกระดับคุณภาพการศึกษา ในโครงการการพัฒนาภาษาอังกฤษนักเรียนโรงเรียนพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย ปีงบประมาณ 2567 เนื่องด้วยการศึกษาในยุคปัจจุบัน  ภาษาอังกฤษมีความสำคัญยิ่งในยุคแห่งการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 เพราะเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารของคนต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งการใช้ชีวิตประจำวันของคนเราในด้านต่างๆ จะมีภาษาอังกฤษเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยทั้งสิ้น ในสภาพสังคมปัจจุบันเป็นยุคของการศึกษาไร้พรมแดนที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ทั่วโลก นักเรียนจึงควรได้รับการฝึกทักษะการใช้ภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสารในชีวิตประจำวันได้อย่างคล่องแคล่วและสามารถนำความรู้ไปใช้ได้ในสถานการณ์ต่างๆ กระบวนการพัฒนาทักษะด้านการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียนภาษาอังกฤษจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นพื้นฐานในการเรียนระดับสูงขึ้น อันจะส่งผลให้คุณภาพการศึกษาด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น เด็กยุคใหม่ต้องเข้าใจกระบวนการทางการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ มีทักษะด้านภาษาและสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ในทุกโอกาส อันจะเป็นพื้นฐานในการเรียนรู้ในระดับที่สูงขึ้นและสามารถใช้ความรู้ภาษาอังกฤษในการศึกษาต่อหรือการประกอบอาชีพในอนาคต 
            จากผลการดำเนินโครงการการพัฒนาภาษาอังกฤษนักเรียนโรงเรียนพื้นที่รายรอบมหาวิทยาลัย ปีงบประมาณ 2566 ที่ผ่านมา ได้จัดกิจกรรมทางการศึกษานอกมหาวิทยาลัย เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนในท้องถิ่นที่มีความหลากหลายด้านเชื้อชาติและศาสนาได้เข้าถึงการศึกษาภาษาอังกฤษที่มีคุณภาพและได้พัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เหมาะสมกับช่วงชั้นเรียนของตน โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์และโรงเรียนวัดยางงาม โรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนประทีปศาสน์อิสมาอีลอนุสรณ์ ในการร่วมกันสร้างความเข้มแข็งด้านการจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษให้กับโรงเรียน เป็นมิติทางการศึกษาที่ได้รับโจทย์จากผู้รับบริการโดยตรง และไม่เสียค่าใช้จ่าย
            และเป็นการบูรณาการกิจกรรมด้านการเรียนการสอนภาษาอังกฤษโดยการนำนักศึกษาสาขาวิชาภาษาอังกฤษจัดกิจกรรมให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 ในพื้นที่รอบมหาวิทยาลัย กิจกรรมของโครงการเน้นการพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียง คำศัพท์ ทักษะการฟัง พูด อ่านและเขียนผ่านสื่อการ์ตูนที่ตรงกับความสนใจของนักเรียน เป้าหมายหลักเพื่อให้นักเรียนมีความมั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษ สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น รักการเรียนรู้ภาษาอังกฤษและฝึกฝนอย่างจริงจัง   นักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการได้มีโอกาสร่วมทำประโยชน์ให้กับชุมชนและถ่ายทอดความรู้ด้านภาษาอังกฤษให้กับนักเรียน
           หลังจากเสร็จสิ้นโครงการ นักเรียนชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 5 มีพัฒนาการที่เด่นชัดทั้งด้านความมั่นใจในภาษาอังกฤษที่เพิ่มขึ้นและความสำเร็จในการทำแบบทดสอบ นักเรียนมีคะแนนสอบหลังการดำเนินโครงการที่สูงขึ้น  นอกจากนี้ทั้งครูและนักเรียนมีความพอใจในกิจกรรมต่างๆของโครงการในระดับมาก นักเรียนรู้สึกสนุกกับกิจกรรมภาษาอังกฤษ ทั้งมหาวิทยาลัยและโรงเรียนได้รับประโยชน์จากการร่วมมือกันในครั้งนี้ทั้งในแง่ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านวิชาการและการเข้าถึงการศึกษาภาษาอังกฤษแบบการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในขณะที่นักเรียนได้รับประโยชน์จากกระบวนการเรียนและการสอนภาษาอังกฤษที่หลากหลาย นักศึกษาก็ได้รับประสบการณ์ตรงด้านการฝึกทักษะการสอนภาษาอังกฤษที่มีประสิทธิภาพให้กับนักเรียนในระดับประถมศึกษา แม้ว่านักศึกษายังคงต้องพัฒนาทักษะการสอนเพิ่มเติม ประสบการณ์ในครั้งนี้เป็นอีกพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทักษะการเรียนและการสอนภาษาอังกฤษต่อไป
            ด้านนักศึกษาและอาจารย์ผู้ร่วมโครงการวิชาการรับใช้สังคม (Social Engagement)  มิติด้านการศึกษา มีโอกาสได้ทำประโยชน์ให้กับชุมชนเป็นประสบการณ์ที่ยั่งยืนตลอดชีวิตให้กับทั้งอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยที่ได้ดำเนินกิจกรรมทางการศึกษานอกมหาวิทยาลัย การได้นำความรู้ไปช่วยพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษให้กับนักเรียนทำให้นักศึกษาได้รับประสบการณ์ตรงด้านการสอน นักศึกษาได้ตระหนักถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของตนเองทั้งในด้านทักษะภาษาอังกฤษและความสามารถด้านการสอน แม้โครงการนี้จะเสร็จสิ้นไปแล้ว แต่นักศึกษายังคงต้องฝึกฝนภาษาอังกฤษเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถประยุกต์ใช้ภาษาอังกฤษได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนอกจากประเด็นด้านการศึกษาภาษาอังกฤษ โครงการนี้ได้ส่งเสริมและพัฒนานักศึกษาในทักษะอื่นๆ เช่น ด้านการทำงานเป็นทีม ความมีจิตอาสา การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าและทักษะความเป็นผู้นำ เป็นต้น 

จำนวนคนดู: 15