ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มวล. ลงพื้นที่ชม Best practice และศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในชุมขมบ้านมดตะนอย จังหวัดตรัง

          วันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2566 มหาวิทยาลัย นำโดย อาจารย์ ดร.ประเสริฐ มากแก้ว และผู้ช่วยศาสตาจารย์ ดร.กมล ถิ่นสุราษฎร์ ร่วมกับศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ลงพื้นที่ชม Best practice สำหรับกิจกรรมเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของชุมชนบ้านมดตะนอย ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง อาทิเช่น การใช้โซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมดตะนอย การนำเหง้าหญ้าทะเลที่ถูกคลื่นซักขึ้นมาบนชายฝั่งมาอนุบาล เพื่อให้สามารถเจริญเติบโตได้ โดยหญ้าทะเลมีศักยภาพในการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์   ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญที่สุด โครงการคัดแยกขยะในชุมชน การจัดการขยะและทรัพยากรชายฝั่ง รวมถึงทำกติกาชุมชน เป็นต้น โดยการดำเนินการเกิดจากความร่วมมือกันระหว่างผู้นำชุมชน และมูลนิธิอันดามันจังหวัดตรัง ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร (NGOs) ที่ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงาน เสริมสร้างศักยภาพ สนับสนุนงบประมาณ เป็นพี่เลี้ยง เขื่อมประสานงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม พลังงานทางเลือก แก่ชุมชน อีกทั้งมูลนิธิอันดามันจังหวัดตรัง ยังเป็น 1 ในคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัดตรัง เพื่อขับเคลื่อนการจัดทำรายงานข้อมูลก๊าซเรือนกระจก แผนการลดก๊าซเรือนกระจกของจังหวัดตรัง รวมทั้งรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของจังหวัดตรัง และแผนปฏิบัติการการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่จังหวัดตรัง
          นอกจากนี้ยังลงพื้นที่ เพื่อดูผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น การกัดเซาะชายฝั่ง ซึ่งส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของประชาชนริมชายฝั่ง และส่งผลกระทบด้านเศรษฐกิจหลายด้าน เช่น การท่องเที่ยว การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงชายฝั่ง เป็นต้น นอกจากการกัดเซาะชายฝั่งแล้ว ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังส่งผลกระทบอื่น ๆ อีกมากมาย อาทิเช่น ฝนตกไม่ตรงตามฤดู การเกิดพายุที่รุนแรงขึ้นและถี่ขึ้น เกิดน้ำท่วม ผลผลิตทางการเกษตรลดลง รวมถึงการเกิดโรคต่าง ๆ เป็นต้น โดยผลจากการลงพื้นที่ศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งนี้ ทีมคณะมหาวิทยาลัยในฐานะที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาศักยภาพสำนักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด เพื่อพัฒนาแผนงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับจังหวัด จังหวัดตรัง จะนำข้อมูลเพื่อวิเคราะห์ และจัดทำรายงานสภาพการณ์ความเสี่ยงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัด (Risk Profile) เพื่อนำไปวิเคราะห์เป็นแผนปฏิบัติการการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่จังหวัดตรัง และนำเสนอต่อคณะทำงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายตาม SDG ข้อที่ 13 (Climate Action) การรับมือการเปลี ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จำนวนคนดู: 6