ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ รับมอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31

          เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2567 มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ร่วมรับมอบงบประมาณสนันสนุนการดำเนินโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 จำนวน 800,000 บาท จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดยมี คุณปิยนัยย์  กลิ่นน้อย ผู้จัดการศูนย์ขนส่งทางอากาศนครศรีธรรมราช คุณจิราภรณ์ โชติช่วง เจ้าหน้าที่อาวุโส ฝ่ายกิจการสัมพันธ์ คุณนรเดช สายะเวชบำรุง ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการบิน คุณผลใหม่ จิระยิ่งพันธ์   ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการบิน คุณศิริพรรณ สุวรรณสิทธิ์ พยาบาลชีวอนามัยประจำบริษัท และคุณสิวิชญ์ ทองฉิม เจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคนิคฝ่ายสุขภาพและการแพทย์ เป็นตัวแทนผู้บริหารส่งมอบงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 ณ  ศูนย์บริการวิชาการ อาคารวิจัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
          ในการนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ กล่าวถึงรายละเอียดการดำเนินงานของโครงการ และกิจกรรมที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 13 พฤษภาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล รวมทั้งการจัดกิจกรรมเสริมสร้างความสัมพันธ์ เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และส่งเสริมการพัฒนาทางวิชาการของคณาจารย์ ศิษย์เก่า บุคลากรที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่มีส่วนร่วม รูปแบบการอบรมประกอบด้วย
     1.การบรรยาย การทำหัวข้อสัมมนา รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 21 เมษายน 2567 มีผู้ผ่านการคัดเลือก และยืนยันเข้าร่วมโครงการจำนวน 75 คน
     การบรรยาย: โดยมีผู้บรรยายจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆที่เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
     การทำหัวข้อสัมมนา: ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อเลือกหัวข้อสัมมนา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม เป็นอาจารย์  พี่เลี้ยงและให้การปรึกษาแนะนำ โดยฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล และมีการนำเสนอตามหัวข้อสัมมนา
          2.กิจกรรมภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่ 6 – 13 พฤษภาคม 2567 โดยคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย จากข้อ 1 จำนวน 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม
          ทั้งนี้ คุณปิยนัยย์  กลิ่นน้อย และผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี เป็นตัวแทนผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายกล่าวขอบคุณในความร่วมมือการดำเนินการจัดโครงการดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการจัดโครงการค่ายนิเวศวิทยทางทะเล ในปีนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินโครงการจากบริษัทเชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จำนวน 800,000 บาท โดยศูนย์บริการวิชาการ มีบทบาทหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ รับสมัคร คัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนการประสานความร่วมมือไปยังอาจารย์ นักวิชาการ นักวิจัยด้านการจัดการทรัพยากรทางทะเล และระบบนิเวศวิทยาทางทะเลจากมหาวิทยาลัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั่วประเทศ เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมโครงการต่อไป
          ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายตาม SDG ข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง, เป้าหมายข้อที่ 4 (Quality Education) การศึกษาที่เท่าเที่ยม และเป้าหมายข้อที่ 14 (Life below water) อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทร ทะเล และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

จำนวนคนดู: 20