ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมภาคีเครือข่าย ร่วมเปิดอบรมอย่างเป็นทางการ “โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31” The 31st Marine Ecology Course

          เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2567 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับภาคีเครือข่ายความร่วมมือ จัดกิจกรรมพิธีเปิดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 “The 31st Marine Ecology  Course” อย่างเป็นทางการ ณ ห้อง Studio classroom อาคารเรียนรวม 5  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting
          ภายในกิจกรรมพิธีเปิด ได้รับเกียรติจาก ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวเปิดงาน และได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ พร้อมด้วย คุณพรสุรีย์  กอนันทา รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกิจการองค์กร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมการอบรม โดยมีคุณสุมนา ขจรวัฒนากุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, คุณวราริน วงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยความหลากหลายทางชีวภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และคุณทิพามาศ อุปน้อย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ร่วมให้เกียรติในพิธีเปิดการอบรมในครั้งนี้
          ผศ.ดร.อมรศักดิ์ สวัสดี รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการ ม.วลัยลักษณ์ กล่าวรายงานถึงเครือข่ายความร่วมมือ วัตถุประสงค์ของโครงการ ตลอดจนรายละเอียดของกิจกรรมที่ผู้เข้าร่วมอบรมจะได้รับ ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 2 กิจกรรม คือ
1 การบรรยาย การทำหัวข้อสัมมนา รูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting ระหว่างวันที่ 23 มีนาคม – 21 เมษายน 2567
การบรรยาย: โดยผู้บรรยายจากคณาจารย์มหาวิทยาลัยต่างๆที่เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศ รวมทั้งนักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันการศึกษา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
การทำหัวข้อสัมมนา: ผู้เข้าอบรมแบ่งกลุ่มเพื่อเลือกหัวข้อสัมมนา โดยมีอาจารย์ที่ปรึกษาประจำกลุ่ม เป็นอาจารย์  พี่เลี้ยงและให้การปรึกษาแนะนำ โดยฝึกให้คิดการตั้งโจทย์ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูล และมีการนำเสนอตามหัวข้อสัมมนา

2 กิจกรรมภาคปฏิบัติ ณ ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน จ.ภูเก็ต ระหว่างวันที่  6 – 13 พฤษภาคม 2567 คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย จากกิจกรรมบบรรยาย และการทำหัวข้อสัมมนา จำนวน 20 คน เข้าร่วมกิจกรรม โดยโครงการฯ สนับสนุนค่าที่พัก ค่าอาหาร อุปกรณ์ภาคปฏิบัติ และค่าเดินทางบางส่วน
          การศึกษาในห้องปฏิบัติการ การทดลองโดยแบ่งกลุ่มมาทำงานร่วมกัน กิจกรรมการออกภาคสนามโดยเน้นให้มีการศึกษาของจริงในทะเล ได้แก่ การศึกษาหาดชนิดต่างๆ ป่าชายเลน ดำน้ำดูแนวปะการัง กิจกรมการออกเรือและให้มีการปฏิบัติการศึกษาทางสมุทรศาสตร์ โดยได้มีโอกาสใช้เครื่องมือทันสมัยต่างๆ
          ทั้งนี้ โครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ครั้งที่ 31 จัดขึ้นโดยความร่วมร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยศูนย์บริการวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด มีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักศึกษาเรียนรู้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทางทะเล กลไกและกระบวนการที่สำคัญ ส่งเสริมการเรียนรู้กระบวนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของระบบนิเวศ และการอนุรักษ์การใช้ประโยชน์อย่างชาญฉลาดและอย่างยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเล การจัดโครงการค่ายนิเวศวิทยาทางทะเล ในครั้งนี้ มีนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก จำนวน 97 คน จาก 19 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และผ่านการคัดเลือกเพื่อเข้าร่วมโครงการ จำนวน 75 คน ประกอบด้วยนักศึกษาระดับ ปริญญาตรี 71 คน ปริญญาโท 3 คน และปริญญาเอก 1 คน จาก 17 มหาวิทยาลัย คือ
1.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
2.มหาวิทยาลัยขอนแก่น
3.มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิทยาเขตหนองคาย
4.มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
5.มหาวิทยาลัยทักษิณ
6.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
7.มหาวิทยาลัยนเรศวร
8.มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตจันทบุรี
9.มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
10.มหาวิทยาลัยมหิดล
11.มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
12.วิทยาลัยนานาชาติ ม.มหิดล
13.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
14.มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี
15.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
16.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตอุดมศักดิ์
17.สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT)
          หลังเสร็จสิ้นกิจกรรมพิธีเปิด  โครงการจัดให้มีกิจกรรมบรรยายพิเศษ ในช่วง Special Talk ได้รับเกียรติบรรยาย หัวข้อ การจัดการทรัพยากรทงทะเลที่เกี่ยวข้องกับ SDG และความเป็นกลางทางคาร์บอน โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ธรรมศักดิ์ ยีมิน นายกสมาคมวิทยาศาสตร์ทางทะเลแห่งประเทสไทย และหัวข้อ การใช้เทคโนโลยีการสำรวจสัตว์ทะเลหายาก โดย ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศวิทยาทางทะเลและชายฝั่ง สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง  หลังจากกิจกรรมการบรรยายพิเศษ จะเป็นช่วงสำคัญของผู้เข้าอบรมที่จะได้รับฟังการชี้แจงกิจกรรมต่าง ๆ ของโครงการ ตลอดจนการเจอกับที่ปรึกษากิจกรรมสัมมนาประจำกลุ่มครั้งแรก

 

จำนวนคนดู: 14