ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โครงการการต่อยอดกิจกรรมธนาคารปูม้าเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งและยกระดับรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี

          โครงการการต่อยอดกิจกรรมธนาคารปูม้าเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งและยกระดับรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน โดยทุกๆปี จะมีการจัดกิจกรรมรับฟังความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน (ผู้แทนชุมชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน หน่วยงานภาครัฐ และสถาบันการศึกษาเครือข่าย) ตั้งแต่กระบวนการประชุมผู้แทนชุมชน การติดตั้งธนาคารปูม้าและศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าตามความต้องการของชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยวิเคราะห์จากความเหมาะสมของพื้นที่ จำนวนชาวประมงในพื้นที่ที่มีส่วนร่วม ความเข้มแข็งของกลุ่ม การสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานอนุรักษ์เพื่อความยั่งยืน และการบริหารจัดการทรัพยากรเชิงพื้นที่เพื่อดำเนินการยกระดับธนาคารปูม้าเพิ่มโอกาสความสำเร็จโดยเชื่อมโยงกิจกรรมการท่องเที่ยวและกิจกรรมสร้างอาชีพอื่นๆ ทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มวิถีประมงปูม้าด้วยอัตลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเพื่อการอนุรักษ์ในพื้นที่ชุมชนธนาคารปูม้าในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยทุกกิจกรรมผู้แทนชุมชน ผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นเพื่อบูรณาการขับเคลื่อนกิจกรรมในพื้นที่ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และดำเนินการจัดกิจกรรมถอดบทเรียนจากพื้นที่ภายใต้โครงการกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDG Localization พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 พื้นที่ตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา
          กระบวนการเรียนรู้ในกิจกรรมถอดบทเรียนจากพื้นที่ภายใต้โครงการกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDG Localization พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 เป็นการเปิดโอกาสให้พื้นที่สะท้อนเรื่องราวเป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน พร้อมร่วมถอดบทเรียนเชื่อมโยงกับกรอบแนวคิด SDGs INSIGHT อธิบายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ปัจจัยที่นำมาสู่ความสำเร็จ รวมถึงปัญหาและการแก้ไข เป็นแนวทางที่สามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมเป็นวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากมหาวิทยาลัยและภาคีที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมกระบวนการ ได้แก่
     – คณะที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข
     – คณะทำงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
     – สมาชิกศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์
     – ผู้แทนบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน)
     – ผู้แทนมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี
     – ผู้แทนสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน
     – ผู้แทนกรมทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง และ
     – ผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบลวัง อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
          ผลจากการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนทำให้ ศูนย์เรียนรู้ธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์ เป็นพื้นที่ตัวอย่าง “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่ตัวอย่าง 1 ใน 5 พื้นที่เป้าหมายจากทั่วประเทศ โดยพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการสร้างวงจรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งบทเรียนที่ได้จากการทำงานกับพื้นที่จะถูกนำเสนอในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พศ. 2566 จัดโดย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ในวันที่ 21 ธันวาคม 2566
          จากความร่วมมือที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดำเนินโครงการการต่อยอดกิจกรรมธนาคารปูม้าเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรชายฝั่งและยกระดับรายได้ให้กับชาวประมงในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานีอย่างต่อเนื่อง และนำผลจากการมีส่วนร่วมไปปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานร่วมกับภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทำให้ได้รับโล่ “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” เป็นชุมชนต้นแบบพื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1 และระหว่างวันที่ 26 – 27 เมษายน 2567 นี้ ผู้แทนธนาคารปูม้าบ้านหาดสมบูรณ์จะร่วมภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดสุราษฎร์ธานี จัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันผ่านเวทีเสวนาวิชาการ “การบูรณาการความร่วมมือร่วมเพื่อเป้าหมายความยั่งยืนของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง”และกิจกรรม “สร้างบ้านปลาเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เพื่อเป็นสิ่งยืนยันว่าธนาคารปูม้า สามารถสร้างความสามัคคี และความตระหนักร่วมกันของคนในชุมชน นำมาสู่ความยั่งยืนของทรัพยากรในท้องทะเล ความมั่นคงของอาหาร และความเข้มแข็งของเศรษฐกิจหมุนเวียน BCG การพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทาง SDG การรักษาไว้ซึ่งความยั่งยืนของทรัพยากรและการสร้างรายได้ที่มั่นคง รวมทั้งยกระดับอาชีพของชุมชนฐานราก ดังชื่อ “ธนาคารปูม้าเพื่อความยั่งยืน บ้านหาดสมบูรณ์” ต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://cas.wu.ac.th/archives/22190
https://cas.wu.ac.th/archives/24580

จำนวนคนดู: 57