ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ม.วลัยลักษณ์ จัดกิจกรรม "เสวนาวิชาการเครือข่ายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ ปีที่ 5"

          วันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2567 ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ร่วมกับสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และสำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ นำโดยอาจารย์ธชมล กำลังเกื้อ อาจารย์ประจำสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป และอาจารย์อนุศรา เรืองมาก อาจารย์ประจำสำนักวิชาครุศาสตร์และศิลปศาสตร์ จัดกิจกรรม “เสวนาวิชาการเครือข่ายปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้โครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ ปีที่ 5” ณ ห้องประชุม อุทยานพฤกษศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยได้รับเกียรติจากรองศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นประธานเปิดกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการขยายผลโครงการพัฒนานวัตกรรมสื่อการเรียนการสอนหลักสูตรบูรณาการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโรงเรียนชุมชนใหม่ และโรงเรียนพื้นที่ชุมชนรายรอบ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 5 ที่จะมุ่งเน้นพัฒนาสื่อการเรียนการสอน การผลิตสื่อวิดีโอในรายวิชาปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นการสรุปความคิดรวบยอดของเนื้อหาในแต่ละระดับชั้นให้มีความกระชับ เข้าใจง่าย มีแบบฝึกหัดให้นักเรียนได้ทดสอบก่อนและหลังเรียน สอดคล้องกับพัฒนาการและวัยของนักเรียน สื่อประเภทนี้คือ สื่อการเรียนรู้เชิงบันเทิง (Edutainment) ซึ่งสามารถลดเวลาเรียนในชั้นเรียน เพิ่มทักษะการปฏิบัติการเรียนรู้จากสภาพความจริงได้มากขึ้น ตลอดจนพัฒนาโรงเรียนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบด้านเศรษฐกิจพอเพียง บูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานภาคีที่เกี่ยวข้องในการขยายผลไปยังโรงเรียนกลุ่มเป้าหมายรายรอบต่อไป

        ทั้งนี้ ยังได้รับเกียรติจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฮารีซอล ขุนอินคีรี อาจารย์ประจำคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ร่วมเป็นวิทยากร บรรยายหัวข้อปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับการประยุกต์ใช้สู่การพัฒนาอาชีพในอนาคต และนายไฟซอล ยีโกบ ผู้อำนวยการโรงเรียนชุมชนใหม่ และคุณครูจากโรงเรียนชุมชนใหม่ ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์การเตรียมความพร้อมก่อนเข้ารับการประเมินศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) เป้าหมายตาม SDG ข้อที่ 4 (Quality education) สร้างหลักประกันว่าทุกคนมีการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างครอบคลุมและเท่าเทียม และข้อที่ 17 (Partnerships for the Goals) สร้างความร่วมมือกับเครือข่ายและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

จำนวนคนดู: 13