มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดย ศูนย์บริการวิชาการ นำทีมอาจารย์ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รุ่งรวี จิตภักดี และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อรอนงค์ เฉียบแหลม พร้อมคณะทำงาน ลงพื้นที่บ้านคีรีวง ต.กำโลน อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช เพื่อพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกมังคุดเขาคีรีวง พาณิชย์จังหวัดนครศรีธรรมราช เกษตรอำเภอลานสกา สถานนีวิจัยต้นน้ำคีรีวงฯ และผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ เข้าร่วมประชุมหารือ และลงพื้นที่ปลูก เพื่อค้นหาความเป็นเอกลักษณ์ของมังคุดเขาคีรีวง ซึ่งไม่เหมือนมังคุดจากที่อื่นๆ เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวไปขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้ามังคุดเขาคีรีวง เพื่อเพิ่มมูลค่าของผลิตมังคุด และเป็นการสร้างการรับรองสินค้ามังคุดให้แตกต่างจากมังคุดจากที่อื่นๆ
มังคุดเขาคีรีวง มีคุณลักษณะที่แตกต่างกับมังคุดพื้นที่อื่นคือ ผลมีขนาดใหญ่ ผิวมัน เมื่อผลอ่อนมีนวลแป้ง หูและขั้วเขียวสด เปลือกหนา ก้นรี มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ปลูกอยู่ในพื้นทีสูงกว่าระดับน้ำทะเล 250 -900 เมตรขึ้นไป โดยการปลูกจะเป็นลักษณะสวนสมรม ปลูกรวมกับพืชชนิดอื่น หรือ ปลูกร่วมกับไม้ป่าอื่นๆ ได้แก่ หมาก สะตอ ลูกประ เป็นต้น ปลูกโดยใช้เมล็ดใช้เวลา 8 – 10 ปี ถึงจะให้ผลผลิต โดยจะมีพื้นที่ปลูกในเขตอำเภอลานกา ตำบลกำโลน ใน หมู่ที่ 2 ,3,4,5,7,8,9,10,12 ตำบลท่าดี หมู่ที่ 3,6,7 และ ตำบลเขาแก้ว หมู่ที่ 2 และ 5 โดยพื้นที่ต้องมีลักษณะ ความชื้นสูง และมีร่มเงาของต้นไม้ รวมถึงแดดจัด ฝนตกน้อย จึงจะได้ผลดี ซึ่งลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศดังกล่าว จะได้ลักษณะผลลักษณะดังกล่าวซึ่งแตกต่างจากที่อื่น ช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยว ตั้งแต่เดือน กรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคม ซึ่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวจะแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ ปริมาณน้ำฝนซึ่งตกในแต่ละปี